แชร์ประสบการณ์ การจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง ออนไลน์ 100% (อัปเดต 2023)

การจดทะเบียนบริษัท ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของคนที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง บทความนี้โบเขียนเอาไว้ครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อที่จะบันทึกประสบการณ์ การจดบริษัทด้วยตัวเอง ครั้งแรก และบทความนี้ก็ถือเป็นบทความหนึ่งที่มีผู้เข้าอ่านมากที่สุดบนเว็บนี้ (มีคนอ่านไปมากกว่า 800,000 ครั้ง)

ปัจจุบัน 2023 วิธีการจดทะเบียนบริษัทที่เคยเขียนเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน ก็ล้าหลังไปแล้ว จึงถือโอกาสลองจดทะเบียนบริษัทใหม่ เพื่ออัปเดตบทความจดทะเบียน ฉบับ 2023 เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน มีประโยชน์ใช้ได้จริงค่ะ :)

อยากจดทะเบียนบริษัท จ้าง หรือ ทำเองดี? มีตัวเลือกอะไรบ้าง?

1. จดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง ผ่านระบบ DBD e-Registration

ค่าใช้จ่าย: ปกติ 5,500 แต่ตอนนี้มีโปรลด 50% เหลือเพียง 2,750 บาท ถึง 31 ธันวาคม 2566 (อ้างอิงข้อมูล)

ข้อดี: ประหยัด และการที่เราจดเองจะทำให้ได้รู้ขั้นตอน รอประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์

2. จ้างจดทะเบียนบริษัทกับสำนักงานบัญชี หรือบริษัทที่ให้บริการ

ค่าใช้จ่าย: ค่าจดทะเบียน + ค่าบริการ ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ 5,000-12,000 บาท

ข้อดี: จดได้ใน 1 วัน และไม่ต้องเตรียมเอกสารเอง มีผู้เชียวชาญดำเนินการให้

ข้อเสีย: มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด เพราะต้องมีค่าบริการเพิ่มเข้ามาด้วยนอกจากค่าจดทะเบียน

จริงๆ มีอีกวิธีคือการ Walk-in ไปจดที่กรมพัฒน์ฯ แต่ในบทความนี้เราเชียร์ให้ผู้ประกอบการมือใหม่ เลือกจดทะเบียนบริษัทผ่าน DBD e-Registration เพราะมีราคาที่ประหยัด ขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก สามารถดำเนินการได้เองทันที

ในบทความนี้ โบจะมาอธิบายขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทผ่านระบบ DBD e-Registration

ปล. ถึงแม้สุดท้ายคุณจะไม่ได้ลงมือจดเอง ก็ยังอยากให้อ่านต่อจนจบ เพราะจะช่วยให้เข้าใจเรื่องพื้นฐานการทำธุรกิจ และสามารถเตรียมข้อมูลให้กับผู้ที่จะช่วยดำเนินการให้ได้อย่างรวดเร็วค่ะ

5 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง ผ่านระบบ DBD e-Registration

  1. เตรียมเอกสาร และข้อมูลให้พร้อม
  2. ลงทะเบียนผู้ใช้งานระบบ และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์
  3. กรอกข้อมูลผ่านระบบ DBD e-Registration
  4. ลงลายมือชื่อ
  5. ชำระเงิน

ขั้นตอนที่ 1: เตรียมเอกสารการจดทะเบียนบริษัท

ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ถ้าเตรียมข้อมูลพร้อม เวลาไปกรอกจริงจะง่ายมาก

ข้อมูลที่เราต้องมี มีดังนี้

  1. ชื่อนิติบุคคล ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ สามารถเช็คได้ว่าชื่อที่เราจะใช้มีคนใช้ไปแล้วหรือยังได้ที่นี่
  2. ข้อมูลบัตรประชาชน เบอร์โทร อีเมล ของผู้เริ่มก่อการ (ผู้ถือหุ้น) อย่างน้อย 3 คน กรณีที่ทำคนเดียว ปกติก็จะใช้ชื่อคนในครอบครัวมาถือหุ้นลม 1% ไป
  3. ข้อมูลที่ตั้งของบริษัท (สำนักงานใหญ่) ใช้รหัสเลขบ้านที่อยู่หน้าแรก พร้อมแผนที่โดยสังเขป
  4. ข้อมูลผู้สอบบัญชี ชื่อ นามสกุล หมายเลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ขั้นตอนที่ 2: ลงทะเบียนผู้ใช้งานระบบ และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (eKYC)

ข้อนี้ตรงไปตรงมา เราจะต้องลงทะเบียนผู้ใช้งาน และยืนยันตัวตน ซึ่งสามารถทำทางออนไลน์ได้เลย (ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง) โดยข้อมูลที่ต้องใช้ก็คือ ข้อมูลส่วนตัวของเราเอง และเตรียมบัตรประชาชนตัวจริงให้พร้อม สำหรับการยืนยันตัวตน

Step 1: ลงทะเบียนผู้ใช้งานระบบ

ข้อนี้ไม่มีอะไรมาก เป็นการกรอกข้อมูลปกติ สำคัญคือกรอกเบอร์โทร และอีเมลให้ถูกต้อง

Step 2: ยืนยันตัวตน

เตรียมบัตรประชาชนให้พร้อม โดยระบบจะให้ยืนยันโดย 1. ถ่ายรูปบัตรประชาชน 2. ถ่ายหน้าเรา 3. ถ่ายวิดีโอเราพร้อมให้เราพูดตามคำที่กำหนด

ถ้าคอมมีกล้อง web cam & Microphone อยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่ถ้าไม่สะดวกใช้คอมจะไปทำบนโทรศัพท์ได้เช่นกัน

(ทดสอบดำเนินการบน Chrome บน MacOS แล้วไม่ติดปัญหาอะไร)

Step 3: รออีเมลแจ้งการยืนยันตัวตน

รอประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ของเรารอประมาณ 1.5 ชั่วโมง) จะได้อีเมลแจ้งว่ายืนยันตัวตนสำเร็จ ซึ่งเราก็จะสามารถใช้ Username & Password ที่สร้างขึ้นมาเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

ขั้นตอนที่ 3: กรอกข้อมูลผ่านระบบ DBD e-Registration

ในขั้นตอนนี้ เราจะต้องกรอกข้อมุลไปเรื่อยๆ จนครบ เพื่อให้บทความกระชับ จะขอรวบรวมคำถามในข้อที่เราเองมีความสงสัย รู้สึกว่ามันต้องกรอกอย่างไรเอามารวมไว้

ทุนจดทะเบียน: โดยปกตินิยมจดกันที่ 1 ล้านบาท เพราะเป็นตัวเลขที่กำลังสวย ดูน่าเชื่อ ไม่น้อยจนเกินไป และตามกฏหมาย เราต้องชำระค่าหุ้น 25% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เจ้าของกิจการเพิ่งเริ่มต้นน่าจะพอจ่ายไหวไม่มีปัญหา (เมื่อดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เราค่อยชำระให้ครบได้)

ข้อบังคับของบริษัท: โดยปกติแล้วบริษัทส่วนใหญ่จะใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นข้อบังคับของบริษัท แต่หากบริษัทคุณมีผู้ถือหุ้น กรรมการ จริงๆ หลายท่าน อาจจะลองพูดคุยกัน และปรึกษาทนายเพื่อดูว่าอยากจะเพิ่มข้อบังคับเพิ่มเติมหรือไม่

การประชุมจัดตั้งบริษัท: สามารถใช้รายงานการประชุมสำเร็จรูปที่ DBD กำหนดไว้ให้ได้เลย โดยกรอกค่าใช้จ่ายเป็นค่าจดทะเบียนบริษัท และกรอกข้อมูลผู้สอบบัญชี โดยใช้ชื่อ และเลขทะเบียนผู้สอบบัญชี ซึ่งสามารถใช้ชื่อผู้สอบบัญชีท่านไหนก็ได้ ไม่ได้มีพันธะผูกพันธ์ว่าจะต้องทำบัญชีหรือใช้บริการกับท่านนั้น

การกำหนดจำนวนหุ้นและมูลค่าของหุ้น: ไม่ได้มีสูตรตายตัว เราสามารถกำหนดขึ้นมาได้เลย เช่น ทุนจดทะเบียน 1 ล้าน แบ่งเป็นหุ้นทั้งหมด 100,000 หุ้น 1 หุ้น มีมูลค่า 10 บาท เป็นต้น

วันสิ้นสุดรอบบัญชีบริษัท: ที่นิยมกันคือวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี กรอก “3112”

กรรมการ: จำนวนกรรมการต้องมีอย่างน้อย 1 คน และไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ถือหุ้นเยอะที่สุดเท่านั้น ขึ้นอยู่กับเราเลยว่าจะกำหนดอย่างไร

อำนาจของกรรมการและกรรมการผู้มีอำอาจลงนาม: ข้อนี้เป็นข้อสำคัญมากๆ ที่ต้องเคลียร์ให้ชัด หากเป็นธุรกิจที่มีหุ้นส่วนหลายคน (ไม่ใช่แบบเอาพ่อแม่พี่น้องมาเป็นหุ้นลม 1%) แนะนำว่าควรกำหนดอำนาจลงนามทำธุรกรรมและมีผลผูกพันธ์กับบริษัทได้บ้าง เพื่อป้องกันการฉ้อโกง และทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการของบริษัท

วัตถุประสงค์ของบริษัท (การเลือกแบบ ว.): สามารถเลือกแบบสำเร็จรูปที่ทางกรมทำเอาไว้ให้ได้ อ่านรายละเอียดแต่ละแบบได้ที่ลิงก์นี้ แต่เราก็สามารถเขียนขึ้นมาเองได้เช่นกัน ในกรณีที่วัตถุประสงค์ของเราไม่ได้เข้าข่ายใดในรูปแบบสำเร็จรูปที่มีให้ นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกแบบสำเร็จรูป และเพิ่มวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงของเราเพิ่มเข้าไปได้ โดยไม่ต้องเริ่มจาก 0 ข้อนี้แนะนำว่าควรใส่ที่เกี่ยวข้อง ที่เราคิดว่าจะทำให้ครบที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าใส่ไปทุกอย่างโดยไม่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทให้คำปรึกษา แต่ใส่ว่าทำการค้าซื้อขายทองรูปพรรณ แบบนี้ก็อาจจะไกลกันเกินไป

รายละเอียดลูกจ้าง และผู้รับเหมาช่วงต่อ: โดยปกติยังไม่ต้องกรอก ข้ามไปก่อนได้เลย

ตราประทับ ต้องมีมั้ย?: กฎหมายไม่ได้กำหนด มีหรือไม่มีก็ได้

เอกสารอื่นๆ ถ้าไม่มี หรือไม่บังคับ ข้ามได้เลย

* เอกสารต่างๆ ต้องใช้เป็นไฟล์ PDF หรือ รูปภาพ และมีขนาดไม่เกิน 2MB ใครที่หาวิธีย่อไฟล์ PDF อ่านบทความนี้ได้เลย

เมื่อกรอกข้อมูลครบแล้ว เราจะต้องส่งคำขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-5 วันทำการ หากมีอะไรต้องแก้ไข ก็จะแจ้งมาทางอีเมล

ขั้นตอนที่ 4: ลงลายมือชื่อ

หากเราไม่ต้องแก้ไขอะไร ระบบก็จะแจ้งทางอีเมลว่าได้มีการอนุมัติคำขอการจัดตั้งบริษัทแล้ว หลังจากนั้นเราก็ต้องเข้าไปเซ็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยเข้าไปล็อกอินที่ระบบเพื่อดำเนินการ “ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์”

ขั้นตอนที่ 5: ชำระเงิน และรอแจ้งยืนยัน

เมื่อดำเนินการเซ็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว เราก็จะสามารถยื่นจดทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมได้เลย

โดยเอกสาร “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท” จะถูกส่งมาให้เราทางไปรษณีย์ และเราสามารถดาวน์โหลดในรูปแบบ PDF เก็บเอาไว้ได้เช่นกัน

เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการจดบริษัท

ประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือทำด้วยตัวเองนั้นหาซื้อไม่ได้

แม้การจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองจะดูยุ่งยากมากๆ ในตอนแรก ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย คนที่ไม่เคยทำธุรกิจแบบจริงจังเข้าระบบมาก่อน เจอคำบางคำเข้าไปถึงกับงง แต่สุดท้ายมันก็ทำให้รู้ว่า ไม่มีอะไรยากไปกว่าความสามารถของเรา

ข้อคิดอีกข้อหนึ่งคือ ถ้าเราไม่รู้ ต้องลองหาคำตอบด้วยตัวเองก่อน จะไป google จะไปหาหนังสือ บทความอะไรว่าไป ถ้ายังหาไม่ได้ ให้ถาม ทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือเสมอ แล้วพอเราได้รับการช่วยเหลือที่ดี เราก็อยากจะช่วยคนอื่นๆ ต่อๆ ไป

ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในชีวิตที่สำคัญเหมือนกัน :) อีกส่วนก็อยากจะแชร์ประสบการณ์ที่ได้จากความพยายามในการจดบริษัท สำหรับคนที่อยากจะลองจดบริษัทด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปจ้างเค้า ประหยัดทั้งเงิน ได้ทั้งประสบการณ์

ขอให้ทุกคนโชคดีกับการเริ่มธุรกิจใหม่ค่ะ :)

สิ่งที่ยากกว่าการจดบริษัท คือการ “สร้าง” บริษัทจริงๆ

หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หรือเริ่มแล้วแต่ตันๆ กำลังหาช่องทางในการได้มาซึ่งลูกค้าบนออนไลน์ โบมีเปิดบริการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้คุณเริ่มต้นธุรกิจ แก้ปัญหาที่กำลังเจอ และรู้ทิศทางที่จะไปต่อได้อย่างมั่นใจ สนใจคลิกอ่านรายละเอียดจากแบนเนอร์ด้านล่างได้เลยค่ะ :)

Subscribe
Notify of
guest
2 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
Somchai

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่นำมาแบ่งปันครับ มีประโยชน์มากครับ

แล้วถ้าเราจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว…

ในการดำเนินงานจริงต่อไปหลังจากนี้ เราจะต้องทำอะไรต่อบ้างครับ เช่น “ทำบัญชี” คืออะไร ต้องส่งข้อมูลอะไรให้รัฐบ้าง ถ้ามีบทความแนะนำฉบับคนไม่รู้เรื่องอะไรเลยต่อจะดีมากเลยครับ (หมายถึงไม่ต้องสอนวิธีทำนะครับ แต่แค่แนะนำว่ามีอะไรที่จะต้องทำต่อไปบ้าง)

ขอบคุณมากครับ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    Cookies Details

Save