1% Planner คือสินค้าแบบ Physical Product ตัวแรกที่โบออกแบบ
แต่กว่าจะมาเป็น 1% Planner เวอร์ชันที่วางขาย 1% Planner เวอร์ชันแรกๆ หน้าตาออกมาเหมือน Moleskine ปลอม แบบที่ปลอมไม่เนียน ไม่สวยเอามากๆ
เป็นของที่แม้แต่เราเองก็ยังไม่อยากซื้อเลย แล้วเราจะขายมันยังไงล่ะเนี่ย!
ในบทความนี้ โบจะมาถอดบทเรียนที่ได้จากการทำสินค้าตัวแรกนี้ บทเรียนที่แลกมาด้วย
- เงิน 100,000 บาท+
- เวลา 1 ปี ในการออกแบบ พัฒนา ผลิต
เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่กำลังมีไอเดียอยากสร้างสินค้าของตัวเอง เริ่มต้นได้อย่างถูกต้องแบบไม่เจ็บตัวมากนัก
มองให้เห็นภาพของที่เราอยากจะสร้างขึ้นมา
บทเรียนสำคัญที่สุดที่ได้จากการทำ 1% Planner คือการที่เราไม่ให้เวลากับการคิดถึงภาพ End Product ที่เราอยากให้เกิด
สิ่งที่โบทำตอนนั้นคือ เดินไปที่โรงงาน แล้วช้อปปิ้งว่าเค้ามีแบบไหนบ้าง เค้าฮิตอะไรกัน แล้วจิ้มๆ เอา
การทำแบบนี้ทำให้เราได้ของที่ 1. เหมือนๆ กันกับชาวบ้าน 2. ไม่ได้เป็นของที่ตอบโจทย์ลูกค้า
ตอนที่เราได้เห็น mockup ที่ได้มาจากการไม่ได้คิดมาก มันทำให้เราต้องคิดมาก…
คิดว่าจะเอายังไงต่อ วัสดุโรงงานก็ซื้อมาแล้ว สุดท้าย เราก็ยอมจ่ายค่าวัสดุที่ไม่เอาแล้วเริ่มใหม่
พอได้โอกาสเริ่มออกแบบใหม่อีกครั้ง คราวนี้ไม่เหมือนเดิม โบไปเดินดูหน้าปกหนังสือสวยๆ ในร้าน Kinokuniya แล้วถ่ายรูปเอาไว้
เข้า Pinterest แล้วเปิดดู idea การออกแบบสมุด ว่าเค้าทำกันแบบไหนบนโลกใบนี้บ้าง
รายละเอียดตรงไหนที่เราชอบ รวบรวม และค่อยๆ ออกมาเป็นรูปร่างหน้าตาของสมุดที่เราอยากจะให้เป็น
พอภาพเราชัดเจน ขั้นตอนการผลิตก็ง่ายแล้ว แค่หาวัสดุที่คิดไว้ และหาโรงงานที่ทำได้ตาม Spec เปรียบเทียบราคา เป็นอันจบ
ต้องมีความแตกต่าง
ในโลกที่สินค้ามีจำนวนเยอะมากๆ การที่เราจะทำของขึ้นมาอีกชิ้น เราเองต้องตอบให้ได้ว่า
“ทำไมมันต้องมีของชิ้นนี้ด้วยนะ?”
ซึ่งความแตกต่างในที่นี้ไม่ใช่การคิดว่า ทำยังไง ของเราถึงหน้าตาไม่เหมือนชาวบ้านนะ ทำยังไงให้สวยกว่า แปลกกว่า ดูดีกว่า
แต่ความแตกต่างในที่นี้ต้องเริ่มจาก “ความต้องการของลูกค้า”
ก่อนจะรู้ความต้องการของลูกค้า ต้องรู้ก่อนว่า “ลูกค้าคือใคร?”
แล้วก็ไปศึกษาสินค้าคู่แข่งว่าอะไรคือสิ่งที่ยังไม่ตอบโจทย์พวกเค้า
แต่ แต่ อย่าพยายามคิดทำสินค้าที่มันแตกต่างแบบ 100% มันยากมากๆ
สิ่งที่เราควรทำคือการจับเอาจุดด้อยของสินค้าในตลาด แล้วมาพัฒนา
สำหรับ 1% Planner ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา เช่น
- สมุด Planner มักจะต้องเริ่มตอนต้นปีเท่านั้น
- สมุดมักจะมีขนาดใหญ่ หนัก ทำให้ไม่อยากพก
- บางคนต้องพกสมุดถึง 2 เล่มแยกกัน คือ Planner กับ สมุดโน้ต
- สายคั่นแค่ 1-2 เส้น คั่นไม่พอ
- Habit Tracking ที่ต้องพลิกไปพลิกมา
เป็นต้น
แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เราสร้างความแตกต่างในเชิงของฟังก์ชันให้กับลูกค้าได้แล้ว
นอกจากความต้องการลูกค้า โบก็ยังมี vision ที่อยากจะสร้างสมุดที่สวย วัสดุดี จับแล้วเรารู้สึกรักมัน ซึ่งสำคัญมาก เพราะการเขียน Journal / Planner ต้องใช้ความต่อเนื่อง ถ้าสมุดออกมาสวย ดูดี มันก็ช่วยให้เราอยากเขียนทุกวันได้
กล้าที่จะกลับไปจุดเริ่มต้นก่อนจะสาย
การทำ Physical Product ขั้นตอนที่ขาดไม่ได้คือการทำ “Sample Product”
แต่สำหรับ 1% Planner ตอนที่เราได้ Sample มา
เรารู้สึก “เอ๊ะ” อยู่ในใจ รู้สึกว่า มันไม่ใช่สมุดที่เราอยากจะใช้ขนาดนั้น
แต่เราก็ยอมปล่อยผ่านไป ด้วยความที่อยากจะ Launch โปรดักส์จะแย่แล้ว
รู้สึกว่าเสียเวลามาเยอะ ก็เลยเอ้อ เอาวะ ไปต่อ!
(ตอนนั้นน่าจะ 4-6 เดือนได้ นับตั้งแต่เริ่มคิด Product นี้ขึ้นมา)
หลังจากฝืนต่อไปอีก 1-2 เดือน จังหวะที่ทำสมุด Sample เล่มจริงก่อนผลิตเป็นล็อต
เราก็ตัดสินใจล้มเลิกไม่เอาแบบนี้อยู่ดี
ซึ่งหากเรายอมที่จะกลับไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ตอนเห็น Sample ที่เราไม่ชอบแล้ว
เราก็คงไม่ต้องเสียค่าวัสดุกว่า 1 แสนบาท และจะไม่เสียเวลามาเริ่มใหม่อยู่ดี
สรุป
การออกแบบ 1% Planner คือหนึ่งในเรื่องที่โบภูมิใจเรื่องหนึ่งในชีวิตเลย แม้ว่าจะต้องผ่านบทเรียนราคาแพงมา กว่าจะผลิตเสร็จ ต้องคุยกับโรงงานวันเว้นวัน (แต่โรงงานที่ทำให้ก็น่ารักและทำงานออกมาได้ดีจริงๆ แม้จะราคาต้นทุนจะแพงมากกกก)
แต่พอของเสร็จ ขายได้ ลูกค้าชอบ มันเหมือนว่าเราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตคนอื่น แม้ว่ามันจะเป็นแค่สมุดเล่มเล็กๆ จากแบรนด์เล็กๆ อย่างเราก็ตาม
Disclaimer
1% Planner เดิมเป็นสินค้าของแบรนด์ JustOneClub ตอนที่ออกแบบก็มีพาร์ทเนอร์คอยช่วยคิดช่วยตัดสินใจส่วนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้แบรนด์นี้ไม่ได้ดำเนินการต่อแล้ว เราจึงแบ่งเอาสินค้าที่เหลือแจกจ่ายให้ Partners แต่ละคนไปจัดการต่อกันเอง สำหรับโบจึงเอามาเป็นหนึ่งใน Product ของ Brand DailySleek ที่ขายสินค้าที่ช่วยให้การใช้ชีวิตและทำงานมีความสุขมากขึ้น
อยากรู้ว่าด้านใน 1% เป็นยังไง ดูรีวิว 1% Planner ที่โบทำเอาไว้บน YouTube
หรือหากสนใจสามารถสั่งซื้อ 1% Planner ผ่าน Shopee ได้เลยค่ะ :)