สอนสร้างเว็บไซต์ WordPress ทำเว็บเองใน 1 วัน แบบจับมือทำ (อัปเดต 2023)

“อยากสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองต้องทำยังไง?” นี่คือคำถามที่โบได้ยินมาตลอดกว่า 20 ปี ที่อยู่ในแวดวงทำเว็บมา

การทำเว็บไซต์ในปัจจุบัน เราไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดทำเว็บ เช่น HTML หรือ CSS เป็นก่อน ถึงจะสามารถสร้างเว็บไซต์ของเราเองได้

เพราะมีบริการเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ช่วยให้การทำเว็บเป็นเรื่องง่ายอยู่มากมายเช่น Wix, Webflow, SquareSpace,  หรือ WordPress.com ไม่ต้องใช้เวลาเรียนทำเว็บนาน เหมาะกับผู้เริ่มต้นมากๆ

แต่หากใครอยากจะที่จะทำเว็บไซต์ที่ติดตั้งง่าย ใช้งานง่าย และยืดหยุ่น การทำเว็บ WordPress ก็ยังเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่แนะนำกัน

บทความนี้ โบจะมาสอน WordPress แบบติดตั้งเอง (WordPress.org) ซึ่งเป็นระบบทำเว็บไซต์ฟรีที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก (เป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของเว็บไซต์บนโลกนี้ – ข้อมูลปี 2023)

WordPress คือ ระบบเว็บไซต์สำเร็จรูปและระบบจัดการดูแลคอนเทนต์บนเว็บไซต์ (เราเรียกสั้นๆ ว่า CMS ย่อมาจาก Content Management System) ช่วยให้เราสามารถสร้างเว็บไซต์ได้เองโดยที่ไม่ต้องเขียนโค้ด

จุดแข็งของ WordPress คือมี Template หรือ Theme ให้เลือกใช้มากมาย ทั้งแบบฟรีและแบบ Premium หรือหากจะออกแบบเว็บไซต์เองก็สามารถทำได้แทบจะไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญคือ ติดตั้งง่าย ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการเขียนโค้ด ทำเว็บไซต์มาก่อน

สร้างเว็บไซต์ WordPress ด้วยตัวเอง ง่ายและฟรี! 

โบตั้งใจถ่ายถอด และสอนทำเว็บ WordPress แบบจับมือทำจากประสบการณ์ตรง ตั้งแต่ 0 – 100  จบในบทความเดียว บทความนี้จึงจะค่อนข้างยาว (ยาวที่สุดในชีวิตที่โบเคยเขียนมา😅)

เพราะจะไม่ใช่แค่สอนติดตั้งแล้วจบ แต่จะสอน WordPress เริ่มตั้งแต่การวางแผน เทคนิค เครื่องมือแนะนำ ไปจนถึงการเตรียมตัว Launch เว็บไซต์เพื่อใช้งานจริง

แต่รับรองว่าอ่านจบแล้วคุณจะสามารถสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองได้แน่นอน!

สรุป 0 – 7 ขั้นตอนการสร้างเว็บ WordPress ก่อนลุยจริง

Step 0: วางแผนการทำเว็บ

เราจะมาคิดถึงเป้าหมายในการทำเว็บ รูปแบบเว็บไซต์ที่เราต้องการทำ รวมถึงปูพื้นฐานเรื่องของ Technical ก่อนที่เราจะไปยังขั้นตอนตอนต่อไป

Step 1: เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน

แนะนำการจด Domain และซื้อ Hosting เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้ เราจะได้เป็นเจ้าของชื่อเว็บไซต์ ถือเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ของตัวเองอย่าง 100%

Step 2: ลงมือติดตั้งเว็บไซต์ WordPress

ในขั้นตอนนี้เราจะมาลงมือติดตั้ง WordPress แบบ Step by Step

Step 3: เริ่มใช้งาน WordPress เบื้องต้น

แนะนำการใช้งาน WordPress เบื้องต้น ตั้งแต่การใส่ข้อมูล การปรับแต่งเว็บไซต์เบื้องต้น จนไปถึงการปรับเปลี่ยนหน้าตาเว็บไซต์ให้เป็นไปตามที่เราต้องการด้วย WordPress Theme

Step 4: เพิ่มฟังก์ชันให้เว็บไร้ขีดจำกัดด้วย Plugin

แนะนำ Plugin สำคัญที่จำเป็นสำหรับเว็บไซต์ของเรา

Step 5: ทำเว็บให้พร้อมสำหรับการตลาดและการขาย

ในขั้นตอนนี้เราจะมาทำให้เว็บไซต์ของเราพร้อมสำหรับการทำการตลาดและการขาย ด้วยการเก็บข้อมูล และการเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจที่นักการตลาดใช้กัน

Step 6: Checklist เช็คเว็บให้พร้อมก่อนใช้งานจริง

Checklist 5 ข้อ ที่จะทำให้เราไม่พลาดรายละเอียดในการทำเว็บไซต์ที่สำคัญๆ เช่น การตรวจสอบความปลอดภัย การเช็คความเร็วเว็บไซต์ ฯลฯ 

Step 7: ดูแลเว็บไซต์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

การดูแลเว็บไซต์ที่สำคัญมากๆ ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ในขั้นตอนนี้ เราจะได้เรียนรู้ถึงการดูและเว็บไซต์เบื้องต้นให้พร้อมใช้งานและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

ทั้งนี้ ก่อนจะไปเริ่มกัน มีอีก 3 สิ่งที่เราต้องเตรียมให้พร้อม ได้แก่

  • เงินประมาณ 2,000 บาทต่อปี เพื่อเป็นค่า Domain และ Hosting ที่ทำให้เราเป็นเจ้าของและจัดการเว็บไซต์ได้อย่าง 100%
  • เวลา 1 วันเต็ม เพื่อให้ทำตามทุกขั้นตอนได้อย่างต่อเนื่อง (ลองแบ่งเวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นี้เพื่อใช้ทำเว็บไซต์แรกของคุณขึ้นมาสิ!)
  • เป้าหมายและใจที่อยากเรียนรู้ 💪

หากมี 3 อย่างนี้แล้วล่ะก็… เรามาเริ่มกันได้เลย

Step 0: วางแผนการทำเว็บไซต์ (Website Strategy)

ก่อนที่เราจะเข้าไปสู่ขั้นตอนการลงมือทำเว็บ เราอยากให้เริ่มจากภาพรวม และทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการทำเว็บกันก่อน ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

0.1 เริ่มต้นที่เป้าหมายการทำเว็บ

Give me 6 hours to chop down a tree and I will spend the first 4 sharpening the axe.

– Abraham Lincoln

“การวางแผน” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ก่อนจะลงมือลงแรงสร้างเว็บ เราควรจะต้องตอบคำถาม 2 ข้อนี้ให้ได้เสียก่อน

  1. เป้าหมายในการทำเว็บของเราคืออะไร? (Goals)

ถ้าเป็นธุรกิจ เป้าหมายในการทำเว็บไซต์ก็อาจจะเป็น การสร้างแบรนด์ การทำให้คนติดต่อเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น หรือการขายสินค้าให้ได้ยอดตามที่บริษัทกำหนด ฯลฯ

หากเป็นเว็บไซต์ส่วนตัว เป้าหมายก็อาจจะเป็นการสร้างแบรนด์ส่วนตัว การทำให้คนรู้จักเรามาขึ้น การทำเว็บเป็นที่รวบรวมผลงานเพื่อให้คนสนใจอยากร่วมงานกับเรา หรือทำเว็บสำหรับแชร์ความรู้ (blog) ฯลฯ

  1. ใครคือกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากจะให้เข้ามายังเว็บไซต์นี้ (Targe Audience)

เมื่อรู้แล้วว่าเป้าหมายในการทำเว็บคืออะไร สิ่งที่หลายคนหลงลืม หรืออาจจะไม่ทันคิดก็คือ ใครกันล่ะคือกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากให้เข้ามาที่เว็บเรา? 

ตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายสำหรับเว็บธุรกิจก็อาจจะเป็นลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ คนที่สนใจสมัครงานกับบริษัท เป็นต้น

หากเป็นเว็บส่วนตัว ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าเป้าหมายของเว็บคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น เราอยากสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในฐานะนักการตลาดดิจิทัล กลุ่มเป้าหมายคนเข้าเว็บก็อาจจะเป็น นักการตลาดคนอื่นๆ เจ้าของบริษัทและฝ่ายการตลาด นักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ามาแล้วได้ความรู้จากเรา เป็นต้น

0.2 ออกแบบเว็บไซต์

การออกแบบเว็บไซต์ เราจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่

  1. การออกแบบ User Experience ของเว็บไซต์ 

การออกแบบในขั้นตอนนี้จะเน้นเรื่อง “ประสบการณ์การใช้งาน” หรือ UX – User Experience การออกแบบ UX สำหรับเว็บไซต์นั้นมีกระบวนการในการทำได้หลากหลายวิธี ในบทความนี้จะขอเลือกใช้การออกแบบ “เนื้อหาเว็บไซต์” มาเป็นจุดเริ่มต้น

  • ออกแบบ Site Structure / Sitemap

ลิสต์หัวข้อของเนื้อหาที่อยากให้มีบนเว็บไซต์ และเนื้อหาที่กลุ่มเป้าหมายน่าจะสนใจ ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื้อหาควรจะต้องตอบโจทย์ในข้อ 0.1 ทั้งเป้าหมายของเว็บไซต์และกลุ่มเป้าหมายของเราด้วย

และเมื่อได้หัวข้อหลักแล้ว ลองแตกหัวข้อย่อยลงไป โดยสิ่งที่เขียนขึ้นมานี้ เราจะเรียกว่า “Site Structure” หรือ “Sitemap”

ตัวอย่าง Sitemap หรือหัวข้อเนื้อหาของเว็บไซต์ 
  • ออกแบบ Wireframe

เมื่อได้หัวข้อหลักและหัวข้อย่อยแล้ว เราจะมาลงรายละเอียดในแต่ละหน้าเว็บ

เราอยากให้มีข้อมูลอะไรอยู่ในนั้นบ้าง? ให้ลองขยายความจากลิสต์หัวข้อที่เราเขียนเอาไว้

เมื่อเขียนรายละเอียดแล้ว ลอง sketch สิ่งที่คุณอยากให้มีในแต่ละหน้า ขั้นตอนนี้สามารถใช้การวาดลงบนกระดาษ วาดลงบน whiteboard หรือวาดลง Keynote, PowerPoint, presentation หรือเครื่องมือตามที่ถนัดได้เลย อย่าลืมคิดถึงเรื่องความเชื่อมต่อของข้อมูลในแต่ละหน้าด้วย

หากนึกไม่ออกว่า Content บนเว็บเราควรจะมีอะไรบ้าง ให้ลองเข้าไปยังเว็บที่ใกล้เคียงกับเว็บที่เรากำลังจะทำ เช่น ทำเว็บร้านอาหาร ก็ลองเข้าไปดูเว็บร้านอาหารอื่นๆ ว่าเขาออกแบบกันอย่างไร แนะนำให้ดูอย่างน้อย 3 เว็บขึ้นไป จะทำให้เราพอเห็นแนวทางว่าเนื้อหาบนเว็บควรจะมีอะไรบ้าง

  1. การออกแบบ User Interface / Visual Design ของเว็บไซต์

การออกแบบ User Interface หรือ Visual Design จะเป็นส่วนที่สนุกที่สุดส่วนหนึ่งในการทำเว็บ เนื่องจากเราจะได้เข้าไปดูเว็บสวยๆ ต่างๆ มากมาย

ขั้นตอนการออกแบบเว็บไซต์ทำได้ มีดังนี้

  • กำหนด Character ของเว็บไซต์ 

อยากให้ Mood ออกมาแบบไหน? ลองเขียนเป็นคำ Adjective ออกมาซัก 3-5 คำที่ใช้เป็น Keyword ของเว็บ เช่น Modern, Simple, Fun การกำหนด Character ของเว็บเป็น Keywords จะช่วยทำให้เราไม่หลงทาง และง่ายในการเลือก Theme ในขั้นตอนต่อไป

  • หา References

การดูและรวบรวม Reference เป็นกิจกรรมที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในการออกแบบเว็บไซต์ คือ เป็นการกระตุ้นให้เรารวบรวมไอเดีย จากการได้เห็นเว็บดีไซน์ที่สวยๆ เทคนิคแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อที่จะนำสิ่งที่ได้มาคิดวิเคราะห์ว่าจะปรับใช้กับเว็บไซต์กับเว็บไซต์ของเราเองอย่างไร

เว็บไซต์รวมเว็บสวยๆ ที่เราใช้และอยากแนะนำก็คือ awwwards ข้อดีของเว็บนี้ก็คือ เว็บไซต์ที่ลงอยู่ในเว็บนี้ จะไม่ได้เป็นแค่ Idea หรือ Mockup แต่จะเป็นเว็บไซต์ที่ใช้งานได้จริงๆ ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าไปทดลองเล่นได้จริง และเห็นว่างานแบบ World Class เขาทำกันอย่างไร

แนะนำ ลอง Search หาเว็บไซต์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันกับเว็บที่เรากำลังจะทำดู จะทำให้ได้ไอเดียที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

  • ทำ Mood Board

เมื่อเรารวบรวมไอเดียต่างๆ มากมาย ก็เป็นธรรมดาที่ไอเดียของเราจะฟุ้งไปเรื่อยๆ เว็บนี้ก็สวย แบบนี้ก็อยากได้ ฯลฯ แล้วเราจะทำยังไงล่ะที่จะตบเจ้าไอเดียฟุ้งๆ ของเราเรื่องดีไซน์ให้มันเข้าที่เข้าทาง?

Moodboard คือเครื่องมือที่ช่วยรวบรวมดีไซน์ไอเดียของเราให้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียว สิ่งที่เราสามารถใส่ใน Mood Board ได้แก่

  • Keywords
  • References
  • ชุดสี (Color Scheme)
  • แบบตัวอักษร (Typeface หรือ Font)
  • ตัวอย่างของภาพ / กราฟฟิกที่จะใช้
  • รูปแบบการจัดวาง (Layout)

เรียกว่า อะไรก็ได้ที่ทำให้เราเห็นแล้วนึกออกเลยว่าเว็บไซต์นี้ Mood มันจะออกมาแบบไหน เราจะใช้ Mood Board นี้เป็นสิ่งอ้างอิงไปตลอดจนจบโปรเจกต์

0.3 ทำความเข้าใจเรื่องทางเทคนิค

ในการทำเว็บไซต์ สำหรับใครที่ไม่มีความรู้เรื่องโค้ดหรือมีประสบการณ์ทำเว็บไซต์มาก่อน อาจรู้สึกมึนกับคำศัพท์และเรื่องทางเทคนิคอยู่พอสมควร 

แต่เนื่องจากเราใช้ WordPress ในการทำเว็บไซต์แล้ว เรื่องทางเทคนิคที่ต้องทำความเข้าใจก็น้อยลง โดยสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ก่อนก็มีอยู่ 2 เรื่อง ด้วยกัน ได้แก่ 

  • การสร้างเว็บไซต์และการทำงานของเว็บไซต์

จริงๆ แล้วเว็บไซต์ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษา HTML & CSS ซึ่งเป็นส่วนของหน้าบ้าน (Front-end) ที่เราใช้เว็บไซต์ และใช้ภาษา Programmimg อย่าง PHP, Node.js, React, AngularJS, Vue.js ฯลฯ ในการคำนวณ ประมวลผลข้อมูล ฟังก์ชันต่างๆ หลังบ้าน (Back-end) ซึ่งจริงๆ เราอาจจะไม่ต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ เพราะเราใช้ CMS คือ WordPress ในการทำเว็บอยู่แล้ว (แต่เชื่อว่าถ้าทำไปเรื่อยๆ เราจะค่อยๆ เข้าใจภาษา HTML & CSS มากขึ้น) 

แต่สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ คือ

Hosting หรือ Server ซึ่งก็คือที่อยู่ของเว็บไซต์และไฟล์ข้อมูลต่างๆ เรื่องของ Domain Name หรือชื่อที่อยู่เว็บไซต์ (URL) และเรื่อง FTP ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อไฟล์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรากับ Hosting หรือ Server รวมทั้งข้อมูล MySQL ที่เป็นตัวจัดการข้อมูลบนเว็บไซต์อย่างเป็นระบบ

  • การดูแลเว็บไซต์

เมื่อทำเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อย งานของเรายังไม่เสร็จ ยังมีเรื่องทางเทคนิคที่เราต้องรู้และดูแลต่อ ได้แก่ เรื่องระบบรักษาความปลอดภัย (Security) และการดูแลรักษาเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ (Maintainance) 

ยังไม่เข้าใจตอนนี้ยังไม่เป็นไร เพราะเรื่องเหล่านี้ เราจะค่อยๆ ทำความเข้าใจกันตามขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ใน Step ที่ 1 – 7 ค่ะ (รับรองว่าไม่ยากเกินไป)

0.4 Marketing & Sales

เราควรคิดถึงเรื่องการทำการตลาดและการขายบนเว็บตั้งแต่วันแรกๆ เพราะนอกจะช่วยให้เราเห็นภาพใหญ่ของเว็บไซต์แล้ว ยังช่วยทำให้เราเตรียมการในสิ่งสำคัญต่างๆ ตั้งแต่วันแรกๆ ได้ด้วย 

ประเด็นที่ต้องคิดคือ เรื่องของเนื้อหาของเว็บไซต์ในรูปแบบต่างๆ (เนื้อหาแบบเขียน ภาพประกอบ ภาพถ่าย วิดีโอ), การเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ (Tracking), รวมถึงการเตรียมหาเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อนำมาช่วยเรื่อง Marketing และ Sales การขายในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการซื้อขายสินค้าเพื่อรับเงินเพียงอย่างเดียว สำหรับ Personal Website การขาย Personal Brand ที่ทำให้คนรู้สึกว่าน่าเชื่อถือก็คือการขายเช่นเดียวกัน

Step 1: เตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม (Infrastructure)

1.1 จด Domain & ซื้อ Hosting 

Domain name และ Hosting / Server เป็นขั้นตอนแรกที่คนที่อยากทำเว็บต้องทำความรู้จัก หากเปรียบเทียบว่าเว็บไซต์คือบริษัทบริษัทหนึ่ง

  • Domain name เปรียบได้กับ ชื่อบริษัท 
  • Hosting/Server เปรียบได้กับ พื้นที่ออฟฟิศ

ทั้ง 2 สิ่งนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างมาพร้อมกัน เราสามารถจดชื่อบริษัทก่อนได้โดยที่เรายังไม่มีออฟฟิศ หรือใช้บ้านเป็นพื้นที่ออฟฟิศไปก่อน เมื่อพร้อมหรือเริ่มเติบโต เราจะย้ายออฟฟิศไปอยู่ที่อื่นก็ย่อมได้ โดยที่เรายังสามารถใช้ชื่อบริษัทเป็นชื่อเดิม เพียงแต่เวลาเดินทางไปออฟฟิศจะไปกันคนละที่เท่านั้นเอง

การจด Domain name

การจด Domain name นั้นง่ายมาก ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที กับเงินประมาณ 500 – 1,000 บาท เท่านั้น ขั้นตอนการจดโดเมนมีดังนี้

  1. เข้าเว็บไซต์ที่รับจดโดเมน มีหลายเจ้าให้เลือก ทั้ง Namecheap, Godaddy (ส่วนตัวย้ายมาใช้ Namecheap ด้วยระบบ Support ที่ดีกว่า Godaddy)
  2. กรอกชื่อเว็บที่ต้องการ เลือก .com, .co, .net หรือ dot อื่นๆ ได้ตามใจ โดยชื่อที่เราจะจดต้องยังว่างอยู่ หากไม่ว่าง ก็หาชื่อใกล้เคียง หรือถ้าอยากได้จริงๆ ก็อาจจะไปขอซื้อต่อเจ้าของโดเมนนั้นๆ
  3. กรอกรายละเอียดเจ้าของ Domain name และทำการจ่ายเงิน เป็นอันเสร็จสิ้น
  4. ทดลองเข้า Domain ที่เพิ่งซื้อมา หากซื้อจาก Godaddy หน้าเว็บที่เราเจอจะเป็นประมาณด้านล่าง ซึ่งแปลว่า Domain name นี้มีเจ้าของเรียบร้อยแล้ว (ซึ่งก็คือคุณนั่นเอง!) 
ตัวอย่างหน้าเว็บของเราหลังจากจดโดเมนกับ Godaddy

โดยปกติแล้ว Domain Name เราจะจดกันเป็นรายปี จะต้องมีการต่ออายุทุกปี (หากไม่จ่ายเงินต่อ โดเมนหมดอายุ และเราก็จะหมดสิทธิ์ครอบครอง วิธีกันไม่ให้เราลืมต่ออายุก็คือตั้งค่าให้ต่ออายุอัตโนมัติ (Auto-renew) หรือจะจดรวดเดียวไป 5 ปี 10 ปีก็ได้เช่นกัน

วิธีตั้งค่า Auto-renew โดเมนบน Godaddy
ตัวอย่างการตั้งค่า Auto-renew โดเมนบน Namecheap

Hosting/Server

Hosting หรือพื้นที่ที่เราจะไปเช่าเพื่อทำเว็บไซต์นั้น หลักๆ จะมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ Shared Hosting และ Private Hosting

Shared Hosting คือการที่เราไปเช่าพื้นที่เว็บไซต์รวมกับคนอื่นๆ ข้อดีคือราคาถูก และใช้งานได้ง่าย ข้อเสียคือหากเว็บอื่นๆ ที่เขาอยู่เครื่องเดียวกับเรานั้นเว็บติดไวรัส ปล่อย Spam หรือโดน Hack เราก็อาจจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

ส่วน Private Hosting คือ Hosting ที่เราสามารถจัดการตั้งค่าระบบทุกอย่างได้เองทุกอย่าง เสมือนว่าเรามีซื้อที่แบ่งขายเป็นของตัวเอง ไม่ได้ไปแชร์กับใครเลย ข้อดีก็คือมีความเป็นส่วนตัว จะปรับแต่งอะไรก็ทำได้ ส่วนมากจะเร็วกว่าเพราะไม่ต้องไปแชร์ Resource ของเครื่องกับใคร แต่ก็จะต้องแลกมาด้วยความรู้ความเข้าใจในการตั้งค่าเพิ่มขึ้นมากว่าแบบที่เป็น Shared Hosting 

หลักการเลือก Hosting 

  1. เลือกคุณสมบัติของ Hosting ให้เหมาะกับความต้องการ
ตารางราคา WordPress Hosting ของ Hostinger

ตัวอย่างตารางราคาพร้อมคุณสมบัติที่เราจะได้เห็นตอนเลือก Hosting

  • Disk Space ขนาดของพื้นที่ การดูว่าจะใช้ขนาดเท่าไหน ขึ้นอยู่กับลักษณะของเว็บไซต์ที่เราจะทำ หากเป็นเว็บที่มี content ค่อนข้างเยอะ ก็ต้องเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับการใส่ข้อมูลต่างๆ เช่นรูป ไฟล์ ต่างๆ รวมถึง Backup ของเว็บไซต์ (แนะนำพื้นที่ Disk Space ขั้นต่ำอยู่ที่ 1GB)
  • Bandwidth คือปริมาณการรับส่งข้อมูลต่อเดือน สำหรับเว็บใหม่เอี่ยม ยังไม่มีคนรู้จัก ยังไม่ติด SEO ค่า Bandwidth นี้จะเหลือเฟือมากๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่เว็บเราเริ่มมีคนรู้จัก เริ่มติด Google หน้าแรกๆ ก็จะมีคนเข้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ Bandwidth จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราต้องจ่ายเงินค่า Package Hosting เพิ่มขึ้น (ถึงวันนั้นเมื่อไหร่เราก็คงอยากจ่ายแหละ :D)

วิธีการคำนวณ Bandwidth ที่เราใช้คิดแบบง่ายๆ คือ 

Bandwidthโดยประมาณ = ขนาดเว็บไซต์ที่ใช้ (disk space) ÷ 20 × จำนวนครั้งที่คนเข้าเว็บไซต์ต่อเดือน (visits)

ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ถูกต้อง เพราะเราแค่ทดลองคำนวณจำนวน Bandwidth โดยประมาณ เพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น เราจะรู้ปริมาณที่แน่นอนเมื่อเว็บไซต์เปิดใช้งานจริง และปัจจุบัน Hosting หลายเจ้าก็ให้ unlimited bandwidth อีกต่างหาก

  • Control Panel คือระบบในการจัดการ Hosting หากเป็น Shared Hosting โดยมากจะใช้ cPanel, DirectAdmin, Plesk หากเป็น Hosting เจ้าใหญ่ๆ ระบบ Cloud ก็จะมีระบบ Control Panel ของตัวเอง ระบบการจัดการนี้สำคัญมากโดยเฉพาะกับมือใหม่ ระบบควรเป็นที่รู้จัก มีคนใช้เยอะ (ยิ่งคนใช้เยอะ เวลามีติดปัญหาเราจะค้นหาวิธีแก้ไขได้จาก Google จากคนที่เคยมีปัญหาเหมือนที่เราเจอ)
ตัวอย่าง Control Panel ของ cPanel 
  • SSL การทำให้เว็บไซต์ของเราเป็น https:// เว็บที่มี SSL สังเกตได้โดยมีไอคอนรูปกุญแจอยู่ที่หน้า URL ซึ่งเป็นมาตรฐานในการทำเว็บที่ปลอดภัยในการรับส่งข้อมูล (หากไม่ติดตั้งจะส่งผลต่อเรื่องความน่าเชื่อถือ และแน่นอนว่าส่งผลต่อเรื่อง SEO ด้วย และ Google จะเริ่ม Block เว็บที่ไม่มีการติดตั้ง SSL อย่างจริงจังในช่วงปีหน้า) ฉะนั้นใน Package ควรมองหาด้วยว่ามีบริการนี้ให้ด้วยหรือไม่
  1. การให้บริการ

การให้บริการคือสิ่งที่เป็นความแตกต่างระหว่าง Hosting ที่ดี กับ Hosting ที่ไม่ดี ลองนึกภาพเวลาที่เว็บไซต์มีปัญหา เว็บล่ม เข้าไม่ได้กลางดึกคืนวันเสาร์ บริษัท Hosting ที่ดีควรจะต้องสามารถ Support เราได้ตลอดเวลา ระบบ Support ถ้าเป็น Hosting เมืองนอกควรจะติดต่อได้ 24 ชั่วโมง อย่างน้อยในรูปแบบของ Email, Ticketing หากเป็นในเมืองไทย ควรมีสายด่วนที่โทรหาได้ 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน

วิธีทดสอบว่าระบบ Support ของ Hosting ที่เล็งไว้ดีหรือไม่ ทำได้โดยลองติดต่อสอบถามข้อมูลต่างๆ เข้าไปก่อนที่ซื้อบริการของเขา แล้วดูว่าการช่วยเหลือของทีม Support ดีและเร็วอย่างที่คาดหวังหรือไม่

  1. สถานที่ตั้ง Server

ข้อนี้ก็สำคัญ หากเราแพลนว่าเว็บจะมีผู้เข้าชมจากทั่วทุกมุมโลก ต้องมองหา Hosting ที่มีการวางเครื่อง Server อยู่หลายๆ แห่งทั่วโลก แต่หากแพลนว่ามีแต่คนไทยกันเอง การเลือก Server ในไทยก็เป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผล

  1. มีนโยบาย Refund

นโยบายขอคืนเงิน ทำให้เราอุ่นใจมากขึ้น เพราะหากใช้ๆ ไปแล้วเกิดปัญหา หรือไม่สะดวกใจ เราก็สามารถที่จะขอคืนเงินจากผู้ให้บริการได้ อีกทั้งการที่บริษัทมีนโยบายนี้ ทำให้มั่นใจขึ้นไปอีกระดับว่า สินค้าและบริการของเขาควรจะต้องดีมาก ไม่เช่นนั้นก็น่าจะอยู่ไม่ได้ เพราะคงมีคนมาขอคืนเงินบ่อยๆ แน่นอน

Hosting สำหรับ WordPress ที่เราแนะนำ

1. Hostinger (Shared Hosting) ถือเป็น Hosting แบบน้องใหม่ ที่โดดเด่นเรื่อง Interface ที่ใช้ง่าย มี Package Hosting สำหรับ WordPress โดยเฉพาะ มี 1 click install ที่ติดตั้ง WordPress ให้เลย โบแนะนำให้มือใหม่เริ่มจากตัวนี้ค่ะ เนื่องจากราคาที่จะถูกกว่า Cloudways ค่อนข้างมาก
2. Cloudways (Private Cloud Hosting) โดดเด่นเรื่องความเร็วของ server และการ support รวมถึงพร้อมที่จะ scale เว็บไซต์ได้อย่างไม่จำกัด เหมาะสำหรับคนที่อยากทำเว็บไซต์อย่าง Professional อยากควบคุม Hosting ของตัวเอง มีความรู้ technical บ้าง (เว็บโบทุกเว็บ รวมถึงเว็บลูกค้าส่วนใหญ่ใช้ที่นี่) 

สำคัญมาก ตอนซื้อ Hosting อย่าลืมกรอกชื่อ Domain ที่เราซื้อมาให้ถูกต้อง เพราะจะต้องใช้ในการเชื่อมต่อ Domain กับ Hosting เข้าด้วยกัน

แนะนำ: ดู Hosting, Domain และ Tools ในหมวดอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ หน้า Resources 

1.2 เชื่อมต่อ Domain & Hosting 

Domain ก็ซื้อแล้ว Hosting ก็จ่ายเงินแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การเชื่อมต่อ Domain และ Hosting เข้าด้วยกัน

หลักการการเชื่อมโดเมนอธิบายง่ายๆ ก็คือการที่เราไปบอก Domain ให้รู้ว่า ที่อยู่ของ Hosting อยู่ที่ไหน ซึ่งเราเรียกขั้นตอนนี้เรียกว่า “การชี้โดเมน” 

สิ่งที่เราต้องมีในการชี้โดเมนนี้ก็คือ

  1. ข้อมูลสำหรับ Login เข้าไปยังผู้ให้บริการโดเมน ในที่นี้คือ Namecheap (ถ้าใครไม่ใช่เจ้าของโดเมนก็จะเข้าไป Setup ให้ชี้โดเมนไปไหนมาไหนไม่ได้)
  2. ข้อมูลที่ว่าจะให้ชี้โดเมนไปที่ไหน ข้อมูลนี้จะได้มาตอนที่เราซื้อ Hosting นั่นเอง

ตัวอย่างการชี้ Domain ไปยัง Shared Hosting

  1. หาข้อมูล Name Server จาก Hosting โดยมากจะขึ้นต้นด้วย ns1, ns2 ตัวอย่างเช่น

ns1.somekindofhostingname.com

ns2.somekindofhostingname.com

  1. Login เข้าไปยัง Account Namecheap ไปที่ Domains มองหาคำว่า DNS (เนื่องจาก Namecheap มีการเปลี่ยน Interface บ่อย แนะนำให้เข้าไปอ่านวิธีการชี้โดเมนที่ Namecheap โดยตรง)
  2. ตรงส่วนของ Nameserver ให้เปลี่ยนมาใส่ค่าตามที่เราได้มาจากขั้นตอนที่ 1
ตัวอย่างการตั้งค่า DNS Namecheap

เมื่อตั้งค่าเสร็จแล้ว อาจจะต้องใช้เวลาในการรอให้ Domain อัปเดต ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 24 ชม. แต่บอกเลยว่าสมัยนี้เร็วมาก ไม่กี่ชั่วโมง หรือบางที 30 นาทีก็ใช้งานได้แล้ว

วิธีในการดูว่า domain เราชี้ไปที่ Hosting สำเร็จหรือยัง ก็ให้ลองเข้า Domain ของเรา ถ้าหน้าเว็บไม่ได้เป็นของบริษัทที่เราจดโดเมนมาแล้ว ก็เป็นอันเรียบร้อย

สำหรับ Hosting ที่เริ่ม Advanced อย่างเช่น Cloudways จะมีการชี้โดเมนที่ไม่เหมือนอย่างที่อธิบายด้านบน ศัพท์ที่เราจะเจอคือ A Record ซึ่งรายละเอียดในการสร้าง A Record สามารถดูได้จาก Google ได้เลย ตัวอย่างคำค้นหา “Namecheap A Record Cloudways”

1.3 รวบรวม FTP, MySQL, Control Panel Login 

Note: หากคุณซื้อ Hosting แบบที่มี WordPress 1-Click Install ก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลยค่ะ

ก่อนที่เราจะทำการติดตั้ง WordPress ในขั้นตอนต่อไป เราต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมอีก 2 อย่าง นั่นคือ FTP และ MySQL ซึ่งข้อมูลทั้งสองอย่างนี้ หากเราใช้ Shared Hosting ก็มักจะได้รับมาทางอีเมลเมื่อตอนที่เราสั่งซื้อ Hosting นั่นเอง

1. FTP คือ ช่องทางการเชื่อมต่อไปยังพื้นที่เว็บไซต์ของเราทางหลังบ้าน

รายละเอียด FTP ที่ต้องจดไว้ ได้แก่ FTP Server, username, password, port

ซึ่ง FTP Server มักจะมาในรูปแบบ ftp.yourdomain.com หรือ yourdomain.com หรือเป็นเลข IP อย่าง 121.324.124.1 ส่วน Port ปกติแล้วค่ามาตรฐานที่ใช้กันก็คือ 21 (ซึ่งตอนนำไปใช้ โดยมากไม่ต้องกรอกก็ได้)

ตัวอย่างข้อมูล FTP

2. MySQL คือ ที่สำหรับใช้เก็บฐานข้อมูล (database) ของระบบเว็บไซต์

รายละเอียด MySQL ที่ต้องจดไว้ ได้แก่ hostname, database name, username, password

hostname โดยมากจะใช้เป็น localhost หรือเป็นเลข IP อย่างเช่น 121.324.124.1

การสร้าง FTP และ MySQL

ในบาง Hosting ที่เราซื้ออาจจะไม่ได้มี FTP และ MySQL มาให้ เราก็จะต้องทำการสร้างขึ้นมาเอง โดยการ Login เข้าไปยังระบบ Control Panel ของ Hosting แล้วหาเมนูที่มีคำว่า FTP และ MySQL เพื่อสร้าง FTP และ MySQL ขึ้นมา

ตัวอย่างเมนูการจัดการ FTP และ MySQL ในระบบ DirectAdmin
ตัวอย่างการสร้าง MySQL ในระบบ DirectAdmin

Step 2: ลงมือติดตั้งเว็บไซต์ WordPress

ในขั้นตอนนี้เราจะเริ่มสู่ขั้นตอนที่สำคัญ นั่นก็คือการอัปโหลดไฟล์เว็บไซต์ ขึ้นสู่ Server หรือ Hosting ที่เราซื้อเอาไว้แล้ว ซึ่งแม้ว่าในที่นี้เราจะใช้ WordPress แต่เราสามารถใช้วิธีนี้กับเว็บหรือไฟล์อื่นๆ ได้เช่นกัน

สำหรับบาง Hosting จะมีบริการให้เราสามารถติดตั้ง WordPress ได้จากหลังบ้าน (Control Panel) ได้โดยที่เราไม่ต้องไปดาวน์โหลดและอัปโหลดไฟล์ ซึ่งหาก Hosting ของคุณมีบริการในส่วนนี้ ก็สามารถข้ามไปสู่ขั้นตอนที่ 2.5 ได้เลย

เราสามารถติดตั้ง WordPress ได้จากระบบของ Hostinger ได้ใน 1 คลิก

2.1 ดาวน์โหลด WordPress 

เราสามารถดาวน์โหลด WordPress ได้จากเว็บไซต์ของ WordPress โดยตรงที่ wordpress.org แล้วเลือกดาวน์โหลด WordPress Version ล่าสุดจากหน้าแรก เมื่อโหลดเสร็จแล้วให้ unzip ไฟล์ เราจะได้โฟลเดอร์ที่ชื่อว่า wordpress พักเอาไว้ แล้วไปขั้นตอนต่อไป

ตัวอย่างหน้าจอหลังบ้านของ siteground ที่เราสามารถติดตั้ง WordPress ได้โดยตรง

2.2 ติดตั้งโปรแกรม FTP Client

ก่อนที่เราจะเข้าสู่ FTP เพื่อส่งไฟล์ของเราขึ้นสู่ Server หรือ Hosting สิ่งที่เราต้องมีก็คือโปรแกรม FTP Client แนะนำโปรแกรมชื่อ FileZilla เพราะดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี และสามารถใช้งานได้ทั้ง Mac และ Window 

2.3 อัปโหลดเว็บไซต์ผ่าน FTP

ในขั้นตอนนี้ เราจะทำการอัปโหลดโฟลเดอร์ WordPress ที่ดาวน์โหลดมา ขึ้นไปไว้บน Server โดยใช้โปรแกรม FTP Client 

ให้เปิดโปรแกรม FTP ขึ้นมา แล้วกรอกข้อมูล FTP ที่จดไว้จากข้อ 1.3 เมื่อ Login ได้แล้วให้เข้าไปที่ Folder public_html 

หากเข้าไปใน public_html แล้วเจอโฟลเดอร์อยู่ ให้ลบออกไปให้หมดได้เลย เพราะเราจะไม่ได้ใช้โฟลเดอร์เหล่านั้นแล้ว

ในเครื่องเรา ให้เราเข้าไปที่โฟลเดอร์ WordPress ที่เราดาวน์โหลดมาจากข้อ 2.1 แล้วเลือกไฟล์ทั้งหมด แล้วลากขึ้นไปไว้ในโฟลเดอร์ public_html ที่เราเปิดไว้ใน Filezilla ได้เลย

2.4 ติดตั้ง WordPress

เมื่ออัปโหลดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เข้า URL เว็บไซต์ของคุณ จะเจอหน้า Setup ของ WordPress ให้คลิกที่ปุ่ม Let’s Go! ได้เลย

ในหน้าถัดมา ระบบ WordPress จะให้เราตั้งค่า ในขั้นตอนนี้เราจะต้องใช้ข้อมูล MySQL (database) จากข้อ 1.3 ที่ได้เตรียมเอาไว้แล้ว 

ช่อง Table Prefix นั้นโดย Default แล้วจะขึ้นต้นด้วย wp พอเป็น default แล้วก็แปลว่าเว็บ WordPress ทั้งโลกที่ไม่ได้เปลี่ยนค่านี้ ก็จะมีชื่อของตารางในฐานข้อมูลที่เหมือนกัน ซึ่งส่งผลให้โดน Hack ได้ง่าย แนะนำให้เปลี่ยนเป็นตัวอักษรอะไรก็ได้ ผสมๆ กัน 2-4 ตัว จะช่วยลดโอกาสโดน Hack ได้ 

2.5 ตั้งชื่อเว็บไซต์และสร้างบัญชีผู้ใช้งาน

เมื่อ Setup ตัวระบบเสร็จเรียบร้อย หน้าต่อมา WordPress จะให้กรอกชื่อเว็บไซต์ (Site Title) และข้อมูล User ได้แก่ Email, Username, Password เพื่อสร้าง Account User สำหรับใช้ Login เข้า WordPress (ควรใช้อีเมลจริงเนื่องจากหากเราเข้าเว็บเราเองไม่ได้ จะต้องทำการ Reset Password ผ่านอีเมลนี้ค่ะ)

ส่วน Checkbox ที่เขียนว่า “Allow search engine to Index this site?” คือการบอกว่าให้ Search engine อย่าง Google เข้ามารวบรวมข้อมูลจากเว็บเราหรือไม่? สำหรับในขั้นตอนนี้ เรายังทำเว็บไม่เสร็จ ตรงนี้ให้เอาติ๊กออกก่อน

ตรงส่วนของ Site Title, username, email, password สามารถเปลี่ยนได้ในภายหลัง ฉะนั้นไม่ต้องคิดมาก ลุยเลย!

ทำถึงขั้นตอนนี้ลองพิมพ์ URL เว็บอีกรอบดู ถ้าพบหน้าเว็บที่ดูเหมือนหน้าเว็บ เราขอแสดงความยินดีด้วย! คุณทำการติดตั้งเว็บไซต์ WordPress เว็บแรกของคุณเสร็จเรียบร้อยแล้ว!

เมื่อ Setup ระบบ WordPress เสร็จ ขั้นตอนต่อไปก็คือการเริ่มปรับแต่งใช้งานเว็บไซต์ของเราจริงๆ รับรองว่าขั้นตอนต่อไปจะสนุกมากๆ จนคุณอาจจะนั่งปรับแต่งโน่นนี่นั่นจนอาจจะลืมทานข้าวเลยล่ะ 🙂

Step 3: เริ่มใช้งาน WordPress เบื้องต้น

3.1. เข้าสู่ระบบจัดการข้อมูลของ WordPress

ตัวเว็บไซต์ที่เราเห็นจากการพิมพ์ URL คือหน้าเว็บที่คนทั่วไปเห็น หรือที่ภาษาคนทำเว็บจะเรียกว่า “หน้าบ้าน” สำหรับส่วนที่เราจะใช้ในการจัดการการตั้งค่า เขียนเนื้อหา หรือจัดการอะไรต่างๆ ของเว็บไซต์ เราจะต้องทำการ Login เข้าสู่ระบบจัดการข้อมูล ส่วนนี้จะเรียกว่า “หลังบ้าน”

การเข้าระบบจัดการข้อมูลหลังบ้าน WordPress ทำได้โดยการพิมพ์ /wp-admin ต่อท้ายชื่อโดเมนของคุณ เช่น yourdomain.com/wp-admin ซึ่งจะเจอแบบฟอร์ม Login เข้าสู่ระบบ ให้กรอกข้อมูล User ที่ได้สร้างไว้จากข้อ 2.5 

หน้าจอสำหรับ Login เข้าหลังบ้านของ WordPress

อย่าเพิ่งตกใจหากเข้าไปสู่ Dashboard แล้วจะมึนงงไปกับเมนูต่างๆ มากมาย ในขั้นตอนนี้เราจะมาแนะนำเมนูที่สำคัญๆ และใช้บ่อยกันในเบื้องต้น จะมีอยู่ไม่กี่เมนูดังรูปด้านล่าง

หน้า Dashboard หรือหลังบ้านของ WordPress

3.3 ใส่เนื้อหาบนเว็บไซต์ ต้องเข้าใจ Page & Post

การจัดรูปแบบเนื้อหาบนเว็บไซต์ WordPress เราจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Page และ Post

Page แปลตรงๆ ก็คือ “หน้า” ใช้สำหรับจัดการหน้าเว็บที่มีหน้าเดี่ยวๆ ไม่ต้องมีความต่อเนื่องใดๆ กับหน้าเว็บอื่นๆ (แต่ใส่ลิงก์เชื่อมหากันได้นะ) ตัวอย่างข้อมูลที่ใช้ Page จัดการ เช่น หน้า Homepage หน้า About หน้า Contact ฯลฯ

Post จะใช้สำหรับข้อมูลที่ต้องมีการ Grouping เป็นหมวดหมู่ มีการใส่ข้อมูลเพิ่มเข้าไปได้เรื่อยๆ ตัวอย่างการใช้ Post ก็เช่น Blog, Knowledge Base, Jobs ฯลฯ

ในขั้นนี้ ให้คุณลองสร้างหน้า Page ขึ้นมา 3 หน้า ได้แก่ Home, About, Contact โดยที่ลองใส่ข้อมูลสั้นๆ เข้าไปก่อน อย่าเพิ่งคิดอะไรมาก ส่วนหน้า Sample เราไม่ได้ใช้สามารถลบหน้านี้ได้เลย 

อย่างไรก็ตาม หน้า Page ที่ลบจะยังไม่ได้ถูกลบถาวร แต่จะถูกย้ายไปอยู่ใน Trash ซึ่งเราสามารถเข้าไปเพื่อลบแบบถาวรหรือถ้าเปลี่ยนใจก็ยังสามารถที่จะ Restore กลับมาได้

3.4 การปรับแต่งเว็บไซต์เบื้องต้นด้วย WordPress Theme Customize

หน้าตา WordPress เว็บไซต์ที่เราจะได้จาก Default

ในขั้นตอนนี้เราจะลองมาปรับแต่ง WordPress ของเราให้ใช้งานได้จริง โดยใช้ Theme ที่ติดมากับ WordPress นี่ล่ะ 

1. ให้เข้าไปที่เมนู Appearance → Themes จะเจอกับหน้าที่แสดง Themes ทั้งหมดที่ใช้ได้ในเว็บเรา

2. จะเห็นว่า Theme ที่เราใช้งานอยู่ คือ Theme ที่อยู่ทางซ้ายสุด (Active) ในขณะนี้คือ Twenty Twenty Three ให้คลิก Customize เพื่อเริ่มปรับแต่ง

3. ในหน้าสำหรับปรับแต่ง Theme จะมีให้เราปรับได้ 3 สิ่งคือ

  • Site การปรับแต่งการแสดงหน้าต่างๆ จะเน้นเรื่องการทำ Content ในหน้านั้นๆ
  • Template การปรับแต่งการแสดงผลแบบ Template
  • Template Part การปรับแต่ง Template ย่อยที่ถูกนำไปใช้ซ้ำในแต่ละหน้า เช่น ส่วนที่เป็น Header หรือ Footer ของเว็บ
หน้าจอการปรับแต่ง WordPress Theme

4. สำหรับการปรับแต่งอื่นๆ สามารถลองกดโน่นนี่นั่นเล่นดู เมื่อปรับแต่งจนพอใจแล้วก็อย่าลืมกด Publish หรือ Save เพื่อบันทึกสิ่งที่ได้ตั้งค่าไว้ด้วย

5. Homepage Settings การตั้งค่าหน้าแรกของเว็บไซต์

Homepage Settings จะให้เลือกว่าหน้าไหนที่คุณจะให้คนเห็นเป็นหน้าแรก (หน้า Homepage)

ไปตั้งค่าได้ที่เมนู Settings ➝ Reading

การเลือกว่าจะให้หน้าไหนเป็นหน้าแรกของเว็บไซต์ WordPress Homepage Settings

3.5 เปลี่ยนหน้าตาเว็บไซต์ด้วย Theme

หลังจากที่ลองปรับแต่ง Theme ที่มากับ WordPress แล้ว เชื่อว่าคุณอาจจะมีคำถามว่า

“เอ… เว็บที่เรากำลังทำมันดูไม่เห็นเหมือนเว็บของคนอื่นเขาเลยแฮะ ”

ในหัวข้อนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแหล่งดาวน์โหลด WordPress Theme ทั้งแบบฟรีและแบบพรีเมียม (เสียเงิน) รวมถึงวิธีการอัปโหลดเบื้องต้น เพื่อทำให้คุณได้เว็บไซต์ที่ดูครบถ้วนสมบูรณ์กันโดยไม่ต้องเขียนโค้ดเอง

  1. หา WordPress Theme ที่ต้องการ 

สำหรับ WordPress Theme ฟรี สามารถหาได้ในเว็บไซต์ของ WordPress.org ได้เลย หรือจะลอง Search หาใน Google โดยใช้ Keyword อย่างเช่น “Free WordPress Theme Personal Blog” 

หาก Theme ฟรียังไม่ถูกใจ อีกตัวเลือกที่น่าพิจารณาก็คือ Premium Theme หรือธีมเสียเงิน ซึ่งก็มีหลายเจ้าให้เลือกเช่น Astra, Elegant Themes, Themeforest

แต่ส่วนตัวโบเลือกใช้ WP Astra ด้วยความที่ตัวระบบการใช้งานที่ง่าย สามารถใช้กับระบบ Block ของ WordPress ได้เลย เวอร์ชันฟรีก็ดีมากแล้ว แต่ถ้าอยากอัปเกรดให้ใช้งานสะดวกขึ้น ก็มีราคาแบบ Lifetime เรียกว่าจ่ายแล้วจบ ไม่ต้องจ่ายรายเดือน

WP Astra WordPress Theme

2.ติดตั้ง WordPress Theme

การติดตั้ง WordPress Theme เราสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. อัปโหลดธีมโดยใช้โปรแกรม FTP เหมือนตอนที่เราอัปโหลด WordPress เพียงแต่คุณต้องนำ Theme ที่ดาวน์โหลดมา ไปใส่ไว้ใน Folder: wp-content ➝ themes

สำหรับ Premium Theme โดยมากจะมี Folder มาให้หลาย Folder ให้คุณมองหาโฟลเดอร์ Document หรือ Readme เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะติดตั้ง Theme ได้อย่างไร

2. อัปโหลดผ่านหลังบ้านของ WordPress

เราสามารถอัปโหลด Theme ผ่านทางหลังบ้านของเว็บเราได้โดยไม่ต้องผ่าน FTP เช่นกัน วิธีการก็คือให้ไปที่เมนู Appearance ➝ Themes ➝ Add New ➝ Upload Theme ➝ เลือก Folder Theme ที่ดาวน์โหลดมา จากเครื่องของเรา

ส่วนสำหรับ Theme ที่อยู่บน WordPress.org เราจะสามารถติดตั้งจากหลังบ้านของเว็บเราโดยตรง โดยไปที่เมนู Appearance ➝ Themes ➝ Add New ➝ เลือก Theme ที่ต้องการและคลิกปุ่ม Install ได้เลย

Theme บน WordPress.org สามารถติดตั้งได้ตั้งแต่หลังบ้าน

3. Activate Theme

เมื่ออัปโหลด Theme เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องไปตั้งให้ใช้งาน Theme นั้นเป็น Theme ของเว็บไซต์ โดยสามารถที่จะ Preview ดูก่อนที่จะ Activate จริงๆ ก่อนได้

สำหรับการตั้งค่า หากเป็น Theme ที่อยู่บน WordPress.org จะปรับไม่ซับซ้อนมาก แต่ถ้าเป็น Premium WordPress Theme ที่ซื้อมาจาก Themeforest มักจะสามารถตั้งค่าได้หลายส่วน

ฉะนั้นเวลาเลือกซื้อ Premium WordPress Theme สิ่งที่ต้องดูนอกจากความสวยงาม ฟังก์ชันการใช้งาน ก็คือเรื่องของการ Support การให้บริการหลังการขาย ลองอ่านรีวิวที่เกี่ยวกับการ Support ของเจ้าของ Theme ดูว่าโอเคหรือไม่ เพราะหาก Theme สวย แต่ติดตั้งยากแถมเมื่อเจอปัญหา ยังไม่มีคนคอย Support ก็ไม่มีประโยชน์เพราะใช้งานไม่ได้จริง

Step 4: เพิ่มฟังก์ชันให้เว็บไซต์ไร้ขีดจำกัดด้วย WordPress Plugin 

WordPress Plugin คือโปรแกรมเสริมที่เราสามารถนำมาติดตั้งเพื่อเพิ่มฟังก์ชันบางอย่างให้กับเว็บ WordPress ของเรา ซึ่ง Plugin นี้ ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ WordPress เป็นระบบดูแลเว็บไซต์หรือ CMS ที่มีคนใช้เยอะที่สุดในโลก

และก็ด้วยความที่มีคนใช้งานเยอะที่สุดประกอบกับ WordPress เป็นระบบ Open source ด้วย จึงมีผู้คนทำ Plugin มารองรับฟังก์ชันต่างๆ ไว้มากมาย เชื่อเถอะว่า ไม่ว่าฟังก์ชันไหนที่เราต้องการ มีคนทำไว้หมดแล้ว 

แต่ในขั้นตอนนี้ จะแนะนำ Plugin 7 ประเภท ที่เกือบทุกเว็บไซต์ควรจะต้องติดตั้งไว้ เพื่อทำให้เว็บไซต์ของคุณสมบูรณ์และพร้อมสำหรับการพัฒนาต่อไปในอนาคต

4.1 WordPress Plugin สำหรับออกแบบหน้าเว็บ Page (Page Builder)

หากคุณอยากปรับแต่งหน้าเว็บได้หลากหลาย โดยที่ไม่ต้องยึดติดอยู่กับ Template ที่มากับ Theme แล้วล่ะก็ Plugin ประเภท Page Builder คือ Plugin ที่จะมาแก้ปัญหานี้ให้กับคุณ

แม้ว่าปัจจุบัน Guthenburg ซึ่งเป็น Page Builder แบบ Built-in ที่ติดมากับ WordPress ตั้งแต่เราติดตั้งจะพัฒนาไปค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมี Elementor ซึ่งถือเป็น Page Builder ผู้มาก่อนกาล ก่อนที่ WordPress จะมี Guthenburg ซะอีก จึงไม่พูดถึงไม่ได้

Elementor 

Elementor หนึ่งใน WordPress Page Buider Plugin ที่ได้รับความนิยมที่สุด

Elementor ถือเป็น WordPress Page Builder Plugin ที่มีคนใช้เยอะมาก จุดเด่นของ elementor เป็นเรื่องของความเร็วในการใช้งาน รวมถึง Design ที่มีมาให้ก็สวยงามและใช้งานได้จริง

ราคา: มีทั้งแบบฟรี และเสียเงิน

4.2 WordPress Plugin สำหรับ SEO

โดยพื้นฐานแล้ว WordPress นั้นเป็นระบบที่มีโครงสร้างที่พร้อมสำหรับการทำ SEO อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ตั้ง URL ได้เอง การตั้งชื่อหน้า Page ฯลฯ แต่หากเราอยากจะเพิ่มความสามารถด้าน SEO ให้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วล่ะก็ SEO คือ Plugin ที่เราต้องติดตั้งเป็นตัวแรกๆ หลังจากทำเว็บไซต์เสร็จ

Rank Math / Yoast SEO

Rank Math และ Yoast SEO คือ WordPress SEO Plugins ยอดนิยมที่มีผู้ใช้จำนวนมาก

หน้าที่ของ SEO Plugin คือจะช่วยวิเคราะห์ว่า SEO ของเว็บคุณเป็นอย่างไร ต้องปรับส่วนไหนบ้าง และยังช่วยแนะนำลงลึกไปในแต่ละหน้าเลยว่าควรจะเขียน Title และ Description ยาวแค่ไหนถึงดี Keyword ที่ Focus มีปริมาณอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือไม่

ตัวอย่างหน้าจัดการของ Plugin Rank Math

หากคุณยังงงว่าที่พูดมาเกี่ยวกับ SEO นี่มันคืออะไร (และแน่นอนว่าไม่ใช่ว่าการทำแค่นี้จะรับประกันว่าเว็บเราจะติด SEO) เอาเป็นว่า ติดตั้งไว้ก่อน ยังไงก็ได้ใช้แน่นอน 

หากสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง SEO แนะนำให้อ่านบทความนี้ค่ะ SEO กับ Relationship: รู้จักและเข้าใจ SEO ใน 5 นาทีด้วยแนวคิดการพัฒนาความสัมพันธ์

ราคา: มีทั้งแบบฟรี และเสียเงิน (แต่แบบฟรีก็เพียงพอแล้ว)

นอกจาก Rank Math และ Yoast SEO แล้ว Plugin คู่แข่งอย่าง All-in-one SEO ก็เป็นตัวที่น่าสนใจ ที่คุณสามารถไปลองเล่นดูก่อนใช้งานจริงได้

4.3 WordPress Plugin สำหรับการสร้าง Form

อีกหนึ่ง Plugin ที่ต้องมีติดเว็บก็คือ Plugin ที่ช่วยให้เราสร้างแบบฟอร์มรับข้อมูลบนเว็บ ซึ่งถือเป็นฟังก์ชันที่ทำให้เว็บเราเป็นเว็บที่รับข้อมูลจากผู้เข้าชม แทนที่จะเป็นผู้ส่งข้อมูลให้เพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างการใช้งานฟอร์ม เช่น

  • การทำแบบฟอร์มให้คนติดต่อสอบถามบริการ
  • การทำแบบฟอร์มเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้า
  • การทำฟอร์มแบบสอบถาม
  • การทำฟอร์มเพื่อให้คน Subscribe Newsletter
  • ฯลฯ

Plugin Forms ที่เราแนะนำจะมี 2 ตัว ดังนี้

Fluent Forms

Fluent Forms ถือเป็น Plugin แบบฟอร์มที่ดังมากๆ ตัวหนึ่ง โดยมีจุดเด่นในเรื่องของ User Interface ที่ใช้งานได้ง่ายมากๆ และสามารถเริ่มใช้งานได้ฟรี

ราคา: ฟรี และเสียเงินเพื่อซื้อ Add-ons (แต่ฟรีก็เพียงพอสำหรับการใช้งานเบื้องต้นแล้ว)

Gravity Forms

Gravity Forms เป็น Plugin สำหรับจัดการ Forms ชื่อดังที่มีจุดเด่นในเรื่องของการเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ (integration) และฟังก์ชันเสริมที่หลากหลาย หากต้องเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์อื่นๆ อีกเยอะ Gravity Form เป็นตัวที่เราขอแนะนำ

ราคา: เสียเงินรายปี (ถ้าไม่ต่ออายุก็แค่จะอัปเกรดเวอร์ชันใหม่ไม่ได้)

แนะนำอย่าลืมดูการตั้งค่าป้องกัน Spam ที่จะเข้ามาจากแบบฟอร์มบนหน้าเว็บเรา ซึ่งปัจจุบันจะนิยมใช้ reCAPTCHA ซึ่งเป็นระบบกัน Spam ของ Google โดยทั้ง Fluent Forms และ Gravity Forms ต่างก็ Support การติดตั้ง reCAPTCHA เพียงแต่เราต้องเข้าไปตั้งค่าเพิ่มเติม

4.4 WordPress Plugin สำหรับจัดการเรื่อง Security

เนื่องจาก WordPress เป็นระบบ Open Source จึงตกเป็นเป้าหมายในการถูกโจมตี จากเหล่า Hacker ได้ง่าย การจัดการเรื่อง Security ให้กับเว็บไซต์ WordPress จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย โดย WordPress Security Plugins ที่แนะนำให้มีติดเว็บเอาไว้ก็คือ iThemes Security, WordFence Security (เวอร์ชันฟรีก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้งาน)

และด้านล่างนี้คือข้อปฏิบัติเบื่องต้นเพื่อป้องกันไม่ให้เว็บโดน Hack

  • หลีกเลี่ยงการใช้ username ยอดฮิตอย่างเช่น admin, administrator, webmaster, หรือชื่อเว็บไซต์ (สำหรับทุก User)
  • ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก ห้ามเด็ดขาดคือเลขเรียง เลขตอง เพราะโดน Hack ได้ง่ายมาก (สำหรับทุก User)
  • ตั้งค่า Block เมื่อมีคนพยายามจะมา Login โดยใช้ Username ยอดฮิตด้านบน หรือกรอกรหัสผิดติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง 5 ครั้งขึ้นไป
  • เปลี่ยน URL ของการ Login จากเดิม wp-admin เป็นชื่ออื่นๆ ยิ่งชื่อแปลกยิ่งดี
  • เปลี่ยน Prefix ของ Table ในฐานข้อมูลจากเดิม wp ให้เป็นตัวอักษรตัวอื่น

4.5 WordPress Plugin สำหรับจัดการเรื่อง Backup

แม้ว่าเราจะป้องกันเว็บไซต์แน่นหนาแค่ไหน แต่เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ การสำรองข้อมูลเว็บไซต์จะช่วยให้ไม่ต้องกังวล หากเว็บไซต์มีปัญหาขึ้นมา

Plugin Backup ที่แนะนำก็มีหลายตัว ได้แก่ Updraft Plus และ BackWPup (มีทั้งเวอร์ชันฟรีและเสียเงิน)

ขอแนะนำให้ตั้งค่าการ Backup แบบ Schedule เอาไว้เลย เช่น Backup รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน แล้วแต่ว่าเว็บไซต์ของเราอัปเดตบ่อยแค่ไหน

นอกจากนั้น เรายังสามารถ Backup เว็บไซต์เอาไว้ที่บริการเก็บข้อมูล อย่างเช่น Google Drive, Dropbox, Box ซึ่งง่ายต่อการจัดการ และปลอดภัยมากขึ้นในกรณีที่ระบบมีปัญหาทั้งระบบแล้วเรา Backup ไฟล์เอาไว้ที่เดียวกับเว็บไซต์

Tip: ลองกด Backup เพื่อทดสอบดูว่าระบบ Backup ที่เราตั้งค่าเอาไว้ทำงานได้สมบูรณ์หรือไม่ รวมถึงลองเปิดไฟล์ที่ Backup มาว่าเก็บข้อมูลมาครบหรือเปล่า โดยจะต้องมีทั้งไฟล์ของเว็บ (Folder ของ WordPress ที่เราอัปโหลดขึ้นไป) และฐานข้อมูลของเว็บ (MySQL) ส่วนของฐานข้อมูลให้สังเกตไฟล์นามสกุล .sql 

4.6 WordPress Plugin สำหรับจัดการเรื่อง Image Optimisation

จากสถิติ คนเข้าเว็บไซต์จะยอมรอให้เว็บไซต์โหลดขึ้นมาเพียงแค่ 2-5 วินาทีเท่านั้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างมากหากเว็บไซต์ของเราดีมาก แต่การจะเข้าถึงแต่ละครั้งต้องใช้เวลาโหลดเป็นสิบๆ วินาที เพราะคงจะมีน้อยคนที่ได้เห็นเว็บไซต์ของเรา 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็วในการโหลดเว็บไซต์นั้นมีหลายอย่าง ทั้งเรื่องของ Hosting, จำนวน Plugin ที่ติดตั้ง, ขนาดของข้อมูล แต่สิ่งที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดเว็บไซต์ได้ง่ายที่สุดและเห็นผลได้อย่างรวดเร็วก็คือ “การลดขนาดของรูปภาพที่อยู่บนเว็บ”

WordPress Plugin ลดขนาดรูปภาพ ที่แนะนำได้แก่ ShortPixel, Imagify, Optimole

ซึ่งโดยมาก Plugin เหล่านี้จะสามารถใช้งานได้ฟรีแต่ในปริมาณที่จำกัด หากใช้เกินกว่ากำหนดก็จะต้องเสียเงิน หากเว็บไซต์ของคุณมีรูปจำนวนมาก การจ่ายเงินเพื่อซื้อเวลาถือว่าคุ้มทีเดียว คลิกเดียวก็ลดขนาดไฟล์รูปได้ทั้งเว็บ

Tip: ในเกือบทุก Plugin จะมีการตั้งค่าคุณภาพของไฟล์ ลองดูว่าอัตราการบีบขนาดรูปในแต่ละแบบ ได้คุณภาพของรูปออกมาเป็นอย่างไร เรารับได้หรือไม่เมื่อเทียบกับคุณภาพของภาพที่ได้ ต้องลองชั่งน้ำหนักดูให้เหมาะสม หากเว็บโหลดเร็วมาก แต่รูปแตกละเอียด ก็ไม่เป็นผลดีกับประสบการณ์ผู้ใช้และภาพลักษณ์ของเว็บเช่นกัน

Step 5: ทำเว็บให้พร้อมสำหรับการตลาดและการขาย

มาถึงขั้นตอนนี้ คุณน่าจะมีเว็บไซต์ที่พร้อมสำหรับการใช้งานแล้วในแง่ของฟังก์ชันและฟีเจอร์ 

ใน Step ที่ 5 นี้ เราจะมาพูดคุยกันถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เว็บไซต์ของคุณพร้อมสำหรับการทำการตลาด การขาย หรือการเติบโตในอนาคต 

5.1 ติดตั้ง Google Analytics

หากคุณอยากทราบว่าเว็บไซต์ของคุณมีคนเข้ามาวันละกี่คน มาจากประเทศไหนบ้าง หน้าไหนที่คนเข้าเยอะ คนใช้ Device อะไรในการเข้าเว็บ ฯลฯ คุณสามารถรู้ข้อมูลเหล่านี้ได้หากเว็บไซต์ของคุณติดตั้ง Google Analytics (GA) ซึ่งเป็นบริการเก็บข้อมูลเว็บไซต์โดย Google เอาไว้

ขั้นตอนการติดตั้ง Google Analytics

  1. ไปที่เว็บ Google Analytics เพื่อทำการสร้าง Account ได้ฟรี (แนะนำใช้เวอร์ชัน GA4 เพราะเป็นเวอร์ชันใหม่)
  2. เมื่อสมัครเรียบร้อยแล้ว คุณจะได้ Tracking ID มา และได้วิธีการติดตั้งโค้ดมาด้วย
  3. ติดตั้ง Google Analytics โดยใช้ Plugin ตัวที่ใช้งานได้ง่ายคือ Google Analytics for WordPress by MonsterInsights เมื่อติดตั้งและ Activate Plugin เรียบร้อยแล้วให้ไปที่ Settings และทำตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ จนจบ (สิ่งที่คุณต้องใช้ก็คือ Tracking ID)

ติดตั้งเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมกลับเข้าไปที่หน้าเว็บ Google Analytics นะคะ เพื่อเช็คดูว่า Tracking ID ที่เราติดตั้งไปนั้นเก็บข้อมูลได้หรือไม่ โดยเข้าไปดูที่ Real Time Visitor ได้เลย

5.2 Facebook Pixels

หากคุณมี Facebook Page การติดตั้ง Facebook Pixels จะเปิดโอกาสให้คุณได้ข้อมูลคนเข้าเว็บเพื่อเอาไปทำการตลาดหรือยิงโฆษณาให้เหมาะกับพฤติกรรมของเขาบนเว็บไซต์ (User’s Behavior)

5.3 Google Tag Manager

Google Tag Manager (GTM) คือ Software ที่ช่วยให้เราจัดการการ Tracking ของ Software ตัวอื่นๆ อีกที

หากคุณวางแผนว่าจะมีการติดตั้ง Software อื่นๆ ในการเก็บข้อมูล หรือมีการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ แนะนำให้ติดตั้ง Google Tag Manager เพื่อที่คุณจะได้จัดการทุก Script ได้ในที่เดียว

หากคุณติดตั้ง Google Tag Manager แล้วก็สามารถเอาโค้ด Google Analytics และ Facebook Pixels ออกจากเว็บ แล้วเอาไปติดที่ Tag Manager ที่เดียวได้เลยค่ะ

5.4 เก็บข้อมูลลูกค้ารายบุคคล

ไม่ว่าเว็บไซต์ของจะเป็นเว็บประเภทไหน เว็บไซต์ธุรกิจ เว็บไซต์ส่วนตัว เว็บไซต์คอนเทนต์ สิ่งที่เราควรทำก็คือการเก็บข้อมูลผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ อีเมล อาชีพ ฯลฯ เพื่อให้เรามีช่องทางในการติดต่อเขาต่อไปได้ ซึ่งเราจะเรียกว่า การเก็บอีเมล หรือ Mailing List

เมื่อเราเก็บอีเมลมาได้แล้ว ทีนี้การที่เราจะส่งอีเมลเพื่อสื่อสารก็ทำได้อย่างอิสระ เพราะข้อมูลลูกค้านี้เป็นข้อมูลของคุณเอง

แน่นอนว่าเราต้องมีการใช้ Software เข้ามาเพื่อที่จะเก็บข้อมูลนี้ ซึ่ง Software ที่แนะนำที่โบใช้อยู่ก็คือ Mailerlite เพราะสามารถสมัครเริ่มใช้งานได้ฟรี และใช้งานได้ง่ายมาก อีกตัวหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็อย่างเช่น Mailchimp

ที่สำคัญอย่าลืมศึกษาเรื่อง PDPA ในการเก็บและใช้ข้อมูลให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย ซึ่งจะมี Plugin อีกตัวที่ควรใช้งานก็คือ Plugin จัดการเรื่อง PDPA แนะนำ Designil PDPA plugin

Step 6: Checklist เช็คเว็บให้พร้อมก่อนใช้งานจริง 

หลังจากที่ปลุกปั้นเว็บไซต์มาหลายชั่วโมงจนเว็บไซต์ของคุณเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง คุณคงอยากจะเปิดตัวเว็บไซต์ให้คนอื่นเข้ามาดูแล้วใช่มั้ยล่ะ? 

แต่ช้าก่อน! เรายังมี Checklists 5 ข้อ นี้ที่อยากจะให้คุณลองไล่เช็คดูให้ครบ เพื่อให้มั่นใจว่าเว็บของคุณจะพร้อมใช้จริงๆ ก่อนที่จะเปิดตัวค่ะ

6.1 ทดสอบความเร็วของเว็บไซต์

  • ทดสอบความเร็วของเว็บไซต์ของเราได้ที่ Pingdom หรือ Google Page Speed หากเว็บเราติดตั้ง Plugin จำนวนมาก มีหน้าคอนเทนต์ที่เยอะ ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่สวยหรู แต่ให้ทราบเอาไว้ แล้วค่อยๆ ปรับแต่งไป 
  • หากพบว่ารูปภาพคือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เว็บโหลดช้า ให้ย้อนกลับไปทำตามข้อ 4.5 WordPress Plugin สำ หรับจัดการเรื่อง Image Optimisation อีกครั้ง หรือลองลดจำนวนของรูปภาพที่ไม่จำเป็นออกไปดู

6.2 ทดสอบการแสดงผลบนอุปกรณ์และโปรแกรม Browser ต่างๆ 

  • ทดลองเข้าเว็บเราจาก Browser ต่างๆ อย่างเช่น Chrome, Safari, Firefox, Edge (Chrome คือ Browser ที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกและแน่นอนในไทยด้วย ดูสถิติ)
  • ทดลองเข้าเว็บของเราจากอุปกรณ์ Mobile Devices อย่าง iPhone, Android, iPad , Tablet ดูภาพรวมว่ามีการแสดงผลอะไรที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมหรือไม่ 

6.3 เปิดให้ Search Engine มาทำความรู้จัก

  • ตรวจสอบว่าเว็บเราเปิดให้ Google เข้ามาเก็บข้อมูลแล้วหรือยัง โดยไปที่ Settings ➝ Reading แล้วดูตรง Check box ที่หน้าคำว่า “Discourage search engines from indexing this site” ให้แน่ใจว่า ไม่ได้ถูกติ๊กอยู่

6.4 ใส่ OG image & Favicon

OG image หรือรูปภาพที่แสดงผลเวลาหน้าเว็บของเราถูกนำไปแชร์บน Social Media อย่าง Facebook รูปภาพนี้สำคัญมาก เพราะเป็นตัวที่จะช่วยทำให้คนอยากคลิกเข้ามาที่เว็บของเราเวลาที่เขาเห็นลิงก์ที่เพื่อนแชร์บน Social Media ต่างๆ เจ้า OG image สามารถใส่ได้ที่ Plugin Yoast SEO หรือ Rank Math

หากเราไม่ใส่รูป OG ระบบจะดึงรูปที่อยู่บนหน้าเว็บมาใช้ ซึ่งก็อาจจะเป็นรูปที่ไม่สวยหรือไม่สื่อสาร จึงอยากแนะนำให้ทำรูป OG หลักของเว็บไซต์เอาไว้เลย หากหน้าไหนไม่มีรูป OG ระบบก็จะดึงรูปนี้ไปใช้

ตัวอย่างภาพ OG image ที่เมื่อนำลิงก์ไปแชร์บน Facebook

Favicon คือ ไอคอนของเว็บไซต์ของเรา สามารถใส่ได้โดยใช้ Plugin อย่าง All in One Favicon การใส่ Favicon เป็นอีกวิธีที่ช่วยในเรื่องของการจดจำ และสร้างความแตกต่างให้กับเว็บไซต์ของเราเช่นกัน (แต่ถ้าใช้ Theme อย่าง Astra จะมีช่องให้ใส่ได้เลยโดยที่เราไม่ต้องติดตั้ง Plugin เพิ่มเติม)


6.5 ตรวจเช็ค License และ Copyright ต่างๆ อย่าให้พลาด

ตรวจเช็คดูให้ดีว่ามีเนื้อหาอะไรที่ผิดกฏหมายหรือไม่ โดยเฉพาะรูปภาพ แม้จะเป็นรูปภาพที่ใช้ได้ฟรี ลองตรวจสอบชนิดของ License ดูให้ดีอีกครั้งว่าต้องมีการให้ Credit กับเจ้าของภาพหรือไม่

Step 7: การดูแลเว็บไซต์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ ในที่สุดคุณก็มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว (เย่!) ยังไม่หมดแรงใช่ไหม ไปกันต่อเลยค่ะ (นึกว่าจะให้พัก!)

Maintenance คือ การทำให้เว็บไซต์ของคุณให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน ซึ่งด้านล่างนี้คือรายการสิ่งที่เราควรเข้ามาตรวจเช็คและดูแลเว็บไซต์ของเราอยู่เสมอ

7.1 การอัปเดตระบบ 

เราควรอัปเดตทั้งตัวระบบหลักของ WordPress และ Plugins ต่างๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ (แต่ก่อนจะอัปเดตเวอร์ชันของ WordPress แนะนำให้ Backup ก่อนนะ) 

7.2 ตรวจสอบ Backup 

ให้เข้าไปดูว่าระบบ Backup ทำงานได้ปกติหรือไม่ หากคุณได้มีการตั้งเวลา Backup แบบอัตโนมัติเอาไว้ ก็ลองตรวจเช็คดูว่าระบบได้ Backup ตามที่เราตั้งเวลาไว้เรียบร้อยหรือเปล่า หากพบว่าระบบไม่ Backup จะได้สามารถตรวจสอบและแก้ไข ที่สำคัญแนะนำให้รีบ Backup แบบ Manual เอาไว้ก่อนเลย

7.3 ตรวจสอบ Spam 

หากเว็บของคุณมีแบบฟอร์ม ให้ลองดูว่ามี Spam คีย์ข้อมูลเข้ามาหรือไม่ หากมีเล็กน้อยก็อาจจะไม่เป็นไร แต่หากโดน Spam เข้ามาเป็นหลักร้อยหลักพันก็ต้องรีบหาวิธีการแก้ไขโดยด่วน

และถ้าถามว่า การ Maintenance เว็บไซต์ควรทำบ่อยแค่ไหน? หากเว็บเราเป็นเว็บที่ไม่ได้มีคอนเทนต์อัปเดตบ่อย ไม่ได้มีคนเข้าเยอะมากนัก การเข้ามาดูแลซักเดือนละ 1 ครั้ง ก็คือว่าใช้ได้แล้วค่ะ

ยินดีด้วย! คุณสร้างเว็บไซต์ WordPress เสร็จสมบูรณ์แล้ว

เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คุณอ่านมาถึงบทสรุปของบทความสอน WordPress นี้ (บอกเลยว่านี่คือบทความที่ยาวที่สุดที่โบเคยเขียนมาแล้ว)

การทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง สำหรับคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเขียนโค้ด หรือคุ้นเคยกับงานด้านเว็บไซต์มาก่อน อาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสักหน่อย

แต่หลังจากอ่านวิธีทำเว็บไซต์ด้วย WordPress ที่แนะนำในบทความนี้ คุณคงจะเห็นแล้วว่า การสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองนั้นไม่ยากเลย เพียงคุณทำตามขั้นตอนแบบ Step by Step คุณก็สามารถที่จะทำเว็บไซต์ของตัวเองได้สำเร็จแน่นอน

ขอให้คุณสนุกกับการทำเว็บไซต์นะคะ และถ้าคุณมีคำถาม ข้อสงสัย หรืออยากจะอวดเว็บไซต์ที่คุณสร้างขึ้นมาก็สามารถส่งมาทาง Comment ได้เลยค่ะ 🙂

Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    Cookies Details

Save