ถ้าคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ เราเดาคุณคงจะไม่ใช่ Designer (แต่ถ้าคุณเป็น Designer คุณก็อาจจะอยากรู้ว่า บทความนี้จะเล่ามุมมองของ Designers ให้คนที่ไม่ได้เป็น Designer ฟังออกมาอีท่าไหนนะ?)
คุณคงจะสงสัยและอยากรู้ว่า เจ้าพวกมนุษย์ Designers เนี่ย เค้าคิด หรือเค้าทำอย่างไร ถึงได้จับวางอะไรก็ดูดี ดูลงตัว ดูโอเคไปเสียหมด
แถมส่วนใหญ่ยังไม่เห็นต้องใช้พวก Tools เครื่องมือใน Power Point หรือเทคนิคอะไรพิศดารเลยนี่นา (ทั้งๆ ที่เราก็ใช้หมดนะ ทำไมมันดูไม่ค่อยได้ล่ะเนี่ย)
อยากรู้จัง เค้าทำกันได้ยังไงนะ?
บทความนี้จะไม่ได้สอนคุณใช้ Photoshop หรือทำ Power Point / Keynote หรือแม้กระทั่งสอนพื้นฐานการออกแบบ แต่เราจะมาแชร์วิธีการอัปเกรดตัวเอง ให้มีมุมมองหรือสายตาที่ “เข้าใกล้” ความเป็น Designer ขึ้นค่ะ
1. หยุดคิดว่า “ฉันไม่ใช่ Designer“
ถ้าคุณคิดว่า “ยังไงชาตินี้ ฉันก็คงคิดหรือเข้าใจสิ่งที่ดีไซน์เนอร์เค้าทำกันได้หรอก” เพราะถ้าคุณคิดว่าทำไม่ได้ คุณก็จะทำไม่ได้, อย่างนี้จบเลย ไปต่อยาก
แต่ถ้าคุณคิดว่า “เห้ย ทำไมนะ นี่เราจบวิศวะฯ เรียนฟิสิกส์เคมีชีวะคิดเลขเก่งมาก ทำไมจัดวางสไลด์ทีไรมันไม่เห็นสวยอย่างเพื่อนกราฟฟิกเค้าเลยนะ? มันต้องมีวิธีสิ!”
ถ้าคุณเริ่มมีความคิดว่า ทำไมฉันถึงจะคิด หรือมองเห็น เหมือน designers กับเค้าบ้างไม่ได้ล่ะ?
ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ อันนี้แสดงว่าคุณเริ่มมาถูกทางแล้ว :)
หลักการพวกนี้ เราไม่ได้อยู่ๆ ทึกทักขึ้นมาเอง เพราะถ้าคุณเคยได้ยินเรื่องกฏแห่งแรงดึงดูด หรือเคยอ่านหนังสือแนว Self Development ชื่อดังอย่าง Think and Grow Rich หรือ Mindset มาบ้าง คุณก็คงจะคุ้นๆ หรือเคยได้ยินแนวคิดเหล่านี้มาแล้วล่ะ ซึ่งมันก็คือเรื่องของแนวคิดและความเชื่อที่บอกว่า
“ถ้าคุณคิดว่าคุณทำได้ คุณก็จะทำได้ เพราะคุณจะหมกมุ่น คิดถึงมันตลอดเวลา จนคุณก็จะหาหนทางทำมันให้สำเร็จจนได้ล่ะน่า!”
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมีความเชื่อ คุณได้ไปต่อค่ะ!
2. สังเกต สังเกต สังเกต!
มองให้มาก ฟังให้มาก สังเกตให้มาก และนำมาคิดให้มาก!
ข้อนี้เหมือนจะเป็น Common Sense แต่เชื่อมั้ยว่า นี่คือสิ่งที่เป็น DNA มนุษย์ดีไซน์เนอร์แทบจะทุกคน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องดีไซน์
คุณไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้ ถ้าคุณไม่รู้ว่าของเดิมมันเป็นอย่างไร
คุณจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าของที่มีอยู่นั้นมันดีหรือไม่ดี เพราะคุณไม่เคยหันไปมองมันเลยด้วยซ้ำ
ฟังดู Aggressive แต่นี่ล่ะ คือความจริงจริงที่น่าเศร้า
ข่าวดีก็คือ เราจะบอกว่า เรื่องการฝึกสังเกตนั้นเป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ และสามารถทำได้ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่วินาทีนี้เลย
3. น้อยแต่มาก Less is More
หากถามว่าหลักการที่ง่ายที่สุดคนที่ไม่ใช่ designer สามารถจำ และคิดเอาไว้เสมอ เมื่อต้องการออกแบบอะไรซักอย่าง ก็คือ Less is More
จากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่า เพียงแค่ตัดลดทอนอะไรต่างๆ ให้เหลือน้อยลง ก็มักจะทำให้อะไรๆ ดีขึ้นเสมอ อันนี้ประยุกต์ใช้ได้หมดเลย ไม่ใช่แค่การออกแบบ แต่มันคือวิธีการใช้ชีวิต (ว่าไปนั่นน…)
ไม่ต้องเยอะ ตรงประเด็น พูดทีละอย่าง
คุณอาจจะมีคำถามว่าทำไมเยอะๆ ถึงไม่ดีล่ะ?
เหตุผลก็เพราะว่า คนเรามีขีดความสนใจ หรือ attention ที่จำกัด หากเรายิ่งพูดทีละหลายๆ อย่าง สุดท้ายคนก็จะรับเอาสิ่งที่เราพูดไปไม่ได้เลย
ซึ่งเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์เรานั้นต้องการความเรียบง่าย ความน้อย หากพบอะไรที่เยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่ป้ายที่เต็มไปด้วยข้อความอ่านยากๆ เต็มไปหมด ก็จะเกิดความเครียด และสูญเสียความสามารถในการ focus ไปเลย
จัดลำดับความสำคัญ
อะไรสำคัญ ก็เน้นซะ จะเน้นด้วยสี ด้วยขนาด ด้วยตำแหน่ง หรือจะใช้ทุกอย่างพร้อมกันก็ได้
ยกตัวอย่างเวลาเราเข้าไปเว็บบอร์ดที่มีคนมาตั้งกระทู้ขายของ จะพบว่าพ่อเค้าแม่ค้าเค้าชอบใช้ตัวอักษรสีแดง ตัวใหญ่ ตัวหนา บางทีขีดเส้นใต้ย้ำอีกหนึ่งตลบ! นี่คือแปลว่าเค้าเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การเน้น สามารถดึงความสนใจคนได้ แต่ส่วนมากสอบตก เพราะว่าจะเน้นมันทุกอย่าง สุดท้ายก็คือไม่ได้เน้นอะไรซักอย่าง
สำหรับส่วนที่สำคัญรองลงมา แต่ไม่ได้สำคัญมากเท่าไหร่ ก็อาจจะทำให้ไม่ต้องเด่นมาก โดยการลดขนาด เลือกใช้สีที่ไม่ต้องโดด หรือเอาไปวางไว้ตรงล่างๆ มุมๆ เป็นต้น
สำหรับส่วนที่ไม่สำคัญ ก็ตัดออกไป ง่ายมากๆ
สรุป
เราเชื่อว่าทุกคนมีคุณสมบัติที่สามารถจะออกแบบ หรือมองเห็นในสิ่งหรือรายละเอียดที่ดีไซน์เนอร์เห็นได้ เพียงแค่ว่าคุณจะเปิดใจรับมันหรือเปล่า เพราะฉะนั้น อย่าลิมิตตัวเอง ด้วยคำว่า “ฉันทำอะไรก็ไม่สวยหรอก เพราะฉันไม่ใช่ดีไซน์เนอร์”