ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ก็นับได้ 3 เดือนพอดี… นับจากที่โบได้แยกตัวจากบริษัท Magnetolabs และ Content Shifu ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมก่อตั้งและช่วยกันสร้างมากับหุ้นส่วนอีก 2 ท่าน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- เปลี่ยนจาก Doer มาทำงานบริหาร
- ไม่ถนัดเรื่องคน แต่ก็จ้างพนักงานมาเกือบ 100 คน
- รวมสร้างบริษัทให้มีรายได้จาก 0 ถึง 8 หลัก ในเวลาปีเศษๆ
การทำบริษัททั้งสอง ถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดในชีวิต
ไม่ใช่เพราะมีแต่เรื่องดีๆ หรือพบความสำเร็จ แต่เป็นเพราะทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องการทำธุรกิจขนาดเล็กตั้งแต่ต้นจนจบ
- ตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท
- การจ้างพนักงาน
- การสร้างระบบต่างๆ
- การดูแลพัฒนาทีม
- จนถึงวันที่ต้องแยกย้าย
และนี่คือ 5 บทเรียนธุรกิจที่อยากจะบอกตัวเองเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
1. ตั้งเป้าหมายธุรกิจที่มากกว่า ‘ตัวเลข’
การตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลข เป็นยอดขาย เป็นจำนวนพนักงาน นั้นดีแน่นอน
แต่เราไม่ควรเอาตัวเลขขึ้นมาก่อนที่จะมี “Vision” ที่ชัดเจน
เพราะไม่เช่นนั้น ตัวเลขที่ตั้งมันจะไม่มีความหมายอะไรใดๆ ให้ยึดโยงเลย
มองให้เห็น “ภาพ” ของบริษัทที่อยากจะให้เป็น
สำหรับคนที่กำลังเริ่มธุรกิจใหม่ หรือมีธุรกิจเดิมอยู่แล้ว
ลองจัดเวลาพูดคุยกัน ถึงเรื่อง Vision และ Mission ของบริษัท
- หากมี Vision เดิมอยู่แล้ว ตอนนี้มันยัง Relevant อยู่ไหม?
- หากยังไม่มี Vision ก็ถึงเวลาที่จะต้อง “สร้าง” มันขึ้นมา
ที่สำคัญ ต้องมั่นใจว่า “ภาพ” ที่ว่า เป็นภาพที่ทุกคนในบริษัทเห็นตรงกัน
2. มี Mentor / Coach ให้เร็ว
เวลามีคนมาปรึกษาเรา เราสามารถบอกปัญหาพร้อมทางแก้ให้เขาได้อย่างรวดเร็ว
แต่พอเป็นเรื่องตัวเอง มันมองไม่ออกซะอย่างนั้น ทั้งที่บางครั้งมันแทบจะเป็นปัญหาเดียวกัน
แถม หนังสือธุรกิจส่วนมากไม่ค่อยได้บอกว่าให้เรามองหาที่ปรึกษาเท่าไหร่
ส่วนมากจะสอนให้เราเชื่อมั่นว่า “ฉันทำได้” “ลองทำไปก่อนเลย”
ยิ่งทำได้…ยิ่งเชื่อมันในตัวเอง เราเลยลืมหาคนที่จะมาช่วย “สะท้อนความคิดเรา”
บางครั้ง แค่ได้คนมาช่วยมอง ช่วยชี้ ปัญหาที่ว่ายิ่งใหญ่ อาจจะแค่เส้นผมบังภูเขา
เพราะทหารกองหน้า มักมองไม่เห็นข้าศึกที่ซ่อนอยู่ด้านหลัง
การมี Mentor ในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องการจ้าง Mentor แบบจริงจังก็ได้
แต่มองเป็น Accountability Partner ที่คอยช่วยกันไป-มา
- มองหาคนที่อยู่ในธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน อยู่ในสถานะใกล้กัน
- นัดเวลาเพื่อแลกเปลี่ยน โดยมีจุดมุ่งหมายให้ต่างฝ่ายต่างช่วยชี้ในสิ่งที่มองไม่เห็น
เมื่อก่อนโบก็มองการพูดคุย หรือออกไปพบปะคนอื่นเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะประชุมทำงานทั้งวันก็เหนื่อยมากแล้ว แต่ตอนนี้หากย้อนไปได้ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่จะทำก่อนให้เร็วที่สุด
3. วาง Ego เชื่อมั่นในทีม และไม่ตัดสิน
สำหรับสาย Specialist หรือมนุษย์ที่ลงมือทำมาก่อน
การเริ่มทำธุรกิจ แล้ววางมือจากงานเฉพาะทางที่ทำนี่ก็ว่ายากแล้ว
แต่ความยากนั้นยังไม่จบ
ทันทีที่เรามีทีมเข้ามาช่วย
เรามักจะมี Ego เชื่อว่า ไม่มีใครทำแทนเราได้หรอก เพราะ
- ฉันทำมาก่อน
- ฉันมีประสบการณ์มากกว่า
- ฉันอ่านและเรียนรู้มาเยอะ (ในแบบที่ฉันว่าดี)
นี่คือจุดอ่อนที่ให้ไม่สามารถสร้างทีมขึ้นมาทดแทนเราได้
ไม่ใช่เขาไม่เก่งด้วยนะ แต่เป็นเพราะเขาทนเราไม่ได้ต่างหาก
จริงๆ แล้ว คนส่วนใหญ่ ล้วนมีความตั้งใจอยากทำงานของตัวเองออกมาให้ดีที่สุด
ประโยคด้านบนคือประโยคที่อยากจะบอกตัวเองให้จำให้ขึ้นใจ
สิ่งที่เราควรทำ ในฐานะ Owner สาย Specialist จึงไม่ใช่:
- จับผิดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไปซะทุกเรื่อง
- 1:1 Checkin ที่มีลิสต์ “เรื่องที่ต้องปรับปรุง” เตรียมใส่อย่างเดียว
- บอกทุกเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะคิดว่าเขา “คิดและทำไม่ได้”
- ตัดสินคนจากอะไรผิวเผิน ที่เขา “ไม่เหมือนเรา” เช่น แอปที่ใช้ วิธีการจัดการเวลา ไปจนถึงการใช้เวลาว่าง
- จนสุดท้าย เอางานมาทำเอง เพราะคิดว่า เร็วกว่า ดีกว่า (บางทีก็ไม่ใช่ด้วยนะ)
แต่เป็น:
- การจับถูก อะไรที่เขาทำได้ดี ให้ชม
- จัด 1:1 Checkin ที่เน้น “ฟัง” อย่างแท้จริงโดยไม่ตัดสิน
- ให้เขาวิเคราะห์ว่างานที่ทำ ดีไม่ดีอย่างไร
- สร้าง Process เพื่อให้สามารถทำงานที่ดีซ้ำได้
- เข้าใจว่าแต่ละคนถนัดงานแบบไหน แล้วจับไปวางตำแหน่งให้เหมาะสม
Process ที่ดี + คนที่พร้อมเรียนรู้ + ความเข้าอกเข้าใจกัน = เราจะได้บริษัทที่น่าอยู่และสามารถเติบโตได้มา 1 บริษัท :)
4. จงกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย
ในโลกนี้มีคนอยู่ 2 แบบ
คนแบบที่ 1: คนที่พยายามใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ
คนแบบที่ 2: คนที่ไม่ชอบพูดและต่อรอง และยอมให้คนแบบที่ 1 ได้สิ่งที่ต้องการไป
หากเราเป็นคนแบบที่ 2 ต้องพยายามพูดออกไป แม้จะยากแค่ไหนก็ตาม
จงกล้าที่จะขัดแย้งตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ต้องมาขัดกันทีหลัง
อย่าขี้เกียจเถียงในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย
อย่าปล่อยผ่านเพราะไม่ชอบการคุย ไม่ชอบการต่อรอง
โดยเฉพาะเรื่องที่มันใหญ่อย่าง
- ข้อตกลงกับหุ้นส่วน
- กฏเล็กกฏน้อยที่ตั้งขึ้นมาในบริษัท
- เป้าหมาย ทิศทางที่กำหนดขึ้น
หรือแม้แต่เรื่องที่ก่อให้เกิด Emotion เช่น การกระทำบางอย่างที่มันไม่ผิด แต่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจสงสัยระหว่างคนในบริษัท
สิ่งเหล่านี้หากไม่คุย จะกลายปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม และสายเกินแก้ในที่สุด
5. เลือกทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ชีวิต
จากข้อ 1. ที่เป็นเรื่อง Vision ของธุรกิจแล้ว
สิ่งที่สำคัญกว่า ก็คือ “Vision ของชีวิตเราเอง”
ไหนๆ ก็ได้มีโอกาสเริ่ม และทำธุรกิจของตัวเองแล้ว
แล้วทำไมถึงไม่ทำธุรกิจที่มันตอบโจทย์ชีวิตเราล่ะ?
อะไรที่ไม่ใช่แล้ว ก็อย่าฝืน
ในฐานะ Co-founder หุ้นส่วน หรือเจ้าของ เราไม่จำเป็นต้องทำงานบริหารเสมอไป หากพบว่ามันมีสิ่งอื่นที่เราทำได้ดีกว่า หรือคนอื่นมาช่วยบริหารแทนเราแล้วบริษัทรุ่งกว่า เราก็ควรจะเลือกไปทางนั้น
และหากเราพบว่าธุรกิจที่ทำ มันไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต หรือ Role ที่ทำอยู่อาจจะไม่เหมาะกับเราอีกแล้ว เราก็ยังมีทางเลือก
- พูดคุยกับพาร์ทเนอร์ หรือทีมงาน ว่าพอจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม? เช่น เปลี่ยน Role ไปทำอะไรน่าจะได้ใช้ความสามารถของเราให้ก่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัทมากกว่า
- แตกไลน์ไปธุรกิจใหม่ ที่เรามี Passion แต่ยังอยู่ภายใต้บริษัทเดิม
แต่สุดท้ายหากทำตามข้อ 1, 2 แล้ว ยังไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะต้องถึงเวลาแยกย้าย เพื่อให้ได้ไปเริ่มใหม่กัน
การเริ่มธุรกิจ คือการเรียนรู้เรื่องธุรกิจที่ดีที่สุด
เพราะประสบการณ์ธุรกิจที่แต่ละคนเจอแม้จะเรื่องเดียวกัน แต่ในรายละเอียดนั้นย่อมต่างกันแน่นอน
เราไม่สามารถเอาปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เราใช้ในธุรกิจนี้ไปใช้กับอีกธุรกิจได้โดยไม่ปรับเปลี่ยนอะไร สิ่งที่เราทำได้คือ การเรียนรู้ เก็บประสบการณ์เป็นข้อมูล เพื่อให้เรามี Resources ไม่ผิดพลาดแบบเดิมๆ
และนี่คือ 5 สิ่งที่โบอยากจะบันทึกเอาไว้บอกตัวเอง และหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังเริ่มธุรกิจของตัวเอง หรือผู้ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อยค่ะ :)
👉 คลิกอ่านต่อ: อัปเดต 1 ปี ในเส้นทาง Solo Entrepreneur เป็นยังไงบ้าง