3 Skills ชุดใหม่ ที่ Designer ยุคต่อไปต้องมี

หากเราพูดถึงคนที่เป็น Designer หรือนักออกแบบแล้ว เรามักจะนึกถึงคนที่ชิคๆ คูลๆ (น่าจะ) มีรสนิยมดี คือไม่ว่าจะหยิบจับเลือกอะไรก็ดูดีและลงตัวไปเสียหมด ทำให้เราเข้าใจว่าความรู้พื้นฐานเรื่องของความงาม (visualization, aesthetic) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ถูกผูกให้มาคู่กับคำว่า Designer (อาจจะแถม Skill การวาดรูปสวยเข้าไปด้วย)

แต่สำหรับปัจจุบัน (และอนาคต) Design จะไม่ใช่การพูดถึงเรื่องของสุนทรียะเพียงอย่างเดียว แต่ Design จะเป็นหนึ่งในวิธีคิด วิธีการทำงานแบบใหม่ที่เข้าไปมีส่วนสำคัญแทบจะในทุกขั้นทุกตอนของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใบนี้ Designer ที่มีเพียง Hard Skills ดังที่กล่าวมาข้างต้น (ซึ่งถือว่าเป็น Hard Skills หลัก) อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป

ในบทความนี้จะกล่าวถึง 3 Skills ที่สำคัญที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น Hard Skill ชุดใหม่ ที่ Designer ยุคนี้และยุคต่อไปต้องมี รวมถึงบอกเล่าถึงวิธีการที่เราจะได้มาซึ่ง Skill เหล่านั้นเพื่อให้คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้

ปล. สำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เป็น Designer ก็เชื่อว่าน่าจะได้ประโยชน์จากบทความนี้เหมือนกันค่ะ :)

1. ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill)

ส่วนตัวแล้วเชื่อมาตลอดเลยว่า “Design = การแก้ปัญหา” การออกแบบ Graphic การทำ Animation Video การออกแบบ Website หรือ Application ถือเป็นจุดสุดท้ายของ “Solution” หรือผลที่เราได้มากจากการแก้ปัญหาเท่านั้นเอง

ก่อนที่เราจะพูดถึงความสามารถในการแก้ปัญหา สิ่งหนึ่งที่ต้องมีก่อนเป็นพื้นฐานเลยก็คือ ความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Logical Thinking) การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลพูดง่ายๆ ก็คือ ความคิดที่มีเหตุมีผลมาสนับสนุนความคิดนั้นๆ อย่างมีหลักการ เช่น “เราไม่ควรออกแบบให้เว็บไซต์เต็มไปด้วยรูปภาพเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะทำให้เว็บไซต์โหลดช้าแล้ว ยังส่งผลเสียต่อ SEO อีกด้วย” พูดแล้วก็อาจจะยกสถิติต่างๆ มาประกอบการพูด เป็นต้น การอธิบายให้เหตุผลที่มีที่มาที่ไป ทำให้เรื่องนี้ดูน่าเชื่อถือ และผู้ฟังก็จะคล้อยตามได้ เพราะเหตุผลที่ยกมานั้น “สมเหตุสมผล” เนื่องจากมีหลักฐานประกอบไม่ได้พูดมาลอยๆ

การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลจะทำให้เราแก้ปัญหาได้เก่งขึ้น เริ่มตั้งแต่แก้ปัญหาที่ควรแก้ ไม่หลงประเด็น สามารถรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์หาถึงเหตุและผลต่างๆ โดยไม่ข้ามไปถึง Solution โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อน เมื่อมีข้อมูลที่ถูกต้อง ก็น่าจะเพิ่มแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเช่นกัน

แล้วทำอย่างไรเราจึงจะเพิ่ม Problem Solving Skill ได้ล่ะ? ขอยกวิธีที่ทำแล้วได้ผลจริงดังนี้

  1. คิดก่อนว่าปัญหานี้คือปัญหาที่แท้จริงหรือเปล่า?

บางครั้งเราแก้ปัญหาแทบตาย เพื่อที่จะพบว่าปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง ฉะนั้นก่อนที่จะตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหา ถามให้ชัดก่อนว่านี่คือปัญหาที่แท้จริงหรือเปล่า วิธีการหาปัญหาที่นิยมใช้กันก็คือ ให้ถาม “ทำไป” ไปเรื่อยๆ 5 ครั้ง แล้วคุณก็จะพบปัญหาที่แท้จริง

  1. รวบรวมข้อมูล

แทบทุกสิ่งที่เราคิด หรือปัญหาที่เราเจอ ส่วนมากมักจะเป็นปัญหาที่คนอื่นน่าจะประสบพบเจอกันมาแล้ว (อาจจะมีบ้างกับบางปัญหาที่เฉพาะมากๆ ที่เราเจอคนแรก แต่เชื่อว่าน้อยครั้งมากๆ ที่เราจะพบปัญหานั้นเป็นปัญหาแรก) ฉะนั้นเมื่อพบเจอปัญหา ลองถาม Google ก่อน บางปัญหาไม่ค่อยฮิตก็ต้องค้นหามากนิดนึง (ใช้สกิลค้นหา Google) บางปัญหาฮิตมาก คนโน้นพูดอย่าง คนนี้พูดอย่าง ก็ต้องรวบรวมข้อมูลให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ (ใช้ Skill การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล)

  1. เล่นเกมส์ที่ใช้ฝึกเรื่อง Problem Solving และ Brain Exercise

ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่ายังอ่อนแอเรื่องของ Problem Sovling และไม่ได้เป็นคนที่สมองดีสักเท่าไหร่ นั่นเลยทำให้ต้องขวนขวายเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกว่ามันช่วยฝึกสมองและแก้ปัญหาได้ดีขึ้นก็คือการเล่นเกมส์ที่มีโจทย์ให้แก้ปัญหาอย่าง Brilliant และเกมส์บริหารสมองอย่าง Lumosity สองแอปนี้คือสนุกมาก ใช้เล่นแก้เครียดเวลาเบื่อๆ แทนเล่นเกมส์ หรือดู Netflix ได้เลย

2. ความสามารถในการเชื่อมโยงศาสตร์ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน (Connecting the dots)

ใครบอกว่าเป็น Designer จะต้องรู้แต่เรื่อง Design เพียงอย่างเดียว?

หากคุณเคยอ่านประวัติของ Steve Jobs ในวันที่เค้าพบว่าไม่อยากจะเรียนในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่ก่อนที่เค้าจะพ้นสภาพนักศึกษา Jobs ได้ไปลงเรียนวิชาเลือกต่างๆ หนึ่งในวิชานั้นก็คือ Calligraphy (วิชาที่ว่าด้วยเรื่องของการประดิษฐ์ตัวอักษร) ซึ่งความรู้ที่ได้จากการเรียนวิชานี้ ทำให้คอมพิวเตอร์ Macintosh ที่ Jobs สร้างขึ้นใน 10 ปีต่อมา เป็นคอมพิวเตอร์ที่มี Typography หรือตัวอักษรสวยที่สุด และกลายเป็นคอมพิวเตอร์ในดวงใจของเหล่านักออกแบบมาจนถึงปัจจุบัน

ถามว่า Steve Jobs รู้ตั้งแต่ตอนไปเรียน Calligraphy มั้ยว่า “ต่อไปฉันจะทำคอมพิวเตอร์ ที่มีฟอนต์สวยที่สุด” ตอบได้เลยว่า เค้าไม่รู้ ดังที่ Jobs พูดเอาไว้เมื่อปี 2005 ว่า “มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะ Connect the dots กับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่มันง่ายมากๆ ที่จะ Connect the dots กับสิ่งที่คุณได้เรียนรู้มามาแล้วเข้าด้วยกัน”

พื้นฐานของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือ innovation หรือแม้แต่สิ่งที่มีประโยชน์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันของเรา หลายๆ อย่างล้วนเป็นผลผลิตมาจากการเชื่อมต่อจุดระหว่างศาสตร์หลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกันทั้งสิ้น

การที่เราจะมีความรู้รอบตัว ความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสตร์ที่อยู่สายงานของเราโดยตรง สามารถได้ทำได้โดย

  1. เปิดใจเรียนรู้

สิ่งสำคัญที่สุดของทุกอย่างคือ “ใจ” การจะเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือเรื่องที่เราไม่รู้จักมักคุ้นมันมักจะทำให้เรารู้สึกไม่สะดวกใจเท่าไหร่ แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าคุณไม่เปิดใจเรียนรู้ตั้งแต่ในวันนี้ ในอนาคตมันจะไม่สะดวกแค่ใจแต่ไม่สะดวกกายด้วย

  1. อ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือถือเป็นวิธีที่ประหยัดและแทบจะทรงพลังที่สุดวิธีหนึ่งในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เพราะคุณไม่ต้องไปเสียเวลาลองผิดลองถูกทุกอย่างเองตั้งแต่แรก ทุกเรื่องที่คุณสนใจ มีคนเขียนหนังสือบอกเอาไว้แทบจะหมดแล้ว (ยกเว้นว่าจะเป็นความรู้ที่ต่อยอดหรือไม่มีคนคิดมาก่อนนะ ซึ่งก็ต้องอาศัยพื้นฐานที่แน่นก่อนที่จะเอาไปประยุกต์ได้)

สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มอ่านหนังสือที่แหวกแนวจากสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ อาจจะหาอะไรที่อยู่รอบๆ ใกล้ๆ ตัวก่อน ไม่ใช่ทำ Design แต่เห็นค้าบอกให้อ่านเรื่องอื่นๆ บ้างจะได้ Connect the Dots ได้ งั้นไปอ่านเรื่องเกี่ยวกับควอนตัมฟิสิกส์ดีกว่าดูคนละขั้วดี อย่างนี้มันก็อาจจะสุดโต่งและยากไปหน่อยพาลจะทำให้เสียกำลังใจท้อถอยเลิกล้มได้ง่าย (ยกเว้นว่าคุณชอบเรื่องแนวนี้อยู่แล้วก็ไม่ว่ากัน)

  1. ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ

หากคุณยังไม่มีงานอดิเรก หรือเรื่องที่ชอบที่สนใจ แนะนำให้ลองไปงาน Meetup หรืองานสัมมนาในหัวข้อที่นอกเหนือจากงานที่ทำดู การมีงานอดิเรกนอกเวลางานดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลา แต่จริงๆ แล้วมันสำคัญมากๆ เพราะนอกจากจะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นแล้ว มันช่วยทำให้เรามีความคิด มีความรู้หลากหลาย มีมุมมองต่างไปจากเดิม ใครจะรู้ วันนึงคุณอาจจะเอางานอดิเรกมาเชื่อมต่อกับงานเกิดเป็นโปรเจกต์ที่เจ๋งสุดๆ ก็เป็นได้

3. ความสามารถในเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง (Growth Mindset)

ในหนังสือ Growth Mindset ซึ่งเขียนโดย Carol Dweck ศาสตราจารย์ด้าน Psychology ที่ Stanford University บอกว่า “คนที่เชื่อว่าความสามารถของตัวเองสามารถพัฒนาได้ (แน่นอนว่าต้องมีเรื่องของการทำงานหนัก การวางแผน และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นมาประกอบด้วย) คือคนที่มี Growth Mindset ซึ่งคนเหล่านี้มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มี Fixed Mindset หรือคนที่เชื่อว่าความสามารถของคนแต่ละคนนั้นมาจากพรสวรรค์เท่านั้น”

ในสถานการณ์การทำงานจริง ขณะที่คนที่มี Fixed Mindset เผชิญกับความล้มเหลวเฝ้าโทษตัวเอง โทษคนอื่น หรือโทษโน่นนั่นนี่ คนที่มี Growth Mindset จะไม่คิดว่านั่นคือความล้มเหลว แต่คือบทเรียน ที่จะทำให้ในครั้งต่อไปเราไม่ผิดพลาดในเรื่องเดิมอีก

ไอเดียเรื่องของ Growth Mindset นับเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ถือว่าเปลี่ยนวิธีคิดของหลายๆ คนทั่วโลก สำหรับ Designer การมี Growth Mindset คือการเชื่อว่า “เราสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้” ความคิดแบบนี้ช่วยให้เรากล้าที่จะทดลอง กล้าที่จะผิด(แบบมีระบบ) และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพื่อหา Solution ที่ดีที่สุด (สำหรับในสถานการณ์นั้นๆ ไม่ใช่การเป็น Perfectionist)

ที่ Magnetolabs เวลาเรารับสมัครทีมงาน เราให้ความสำคัญกับเรื่องของ Growth Mindset เป็นอย่างมากทีเดียว หาก Candidate เก่งมาก แต่เป็นคน “น้ำเต็มแก้ว” คือ ชั้นพอแล้ว ชั้นเก่งแล้ว เก่งที่สุดในโลกนี้ แบบนี้เราก็ไม่รับคนนั้นๆ เข้ามา เพราะถือว่าขาดเรื่องของ Growth Mindset และจะมีปัญหาในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ แน่นอน ในทางกลับกัน หาก Candidate คนนั้น ไม่ได้เก่งมาก แต่เป็นคนกระตือรือร้น พร้อมที่จะปรับปรุงพัฒนาตัวเอง รักการเรียนรู้ อย่างนี้ถือว่ามี Growth Mindset เราก็จะพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าเขาจะเป็น “คนที่สามารถพัฒนาได้” และจะเป็นคนเก่งในที่สุด

คำถามก็คือ แล้วถ้าเราไม่ได้เป็นคนที่มี Growth Mindset มาแต่ไหนแต่ไร แต่อยากจะเปลี่ยนแปลงให้มี Growth Mindset ล่ะ ทำได้ไหม? ขอตอบว่า น่าจะได้ ในหนังสือ Atomic Habits ผู้เขียน James Clear บอกว่า การจะเปลี่ยน Habits ให้ได้ผลดีที่สุดนั้น ให้เปลี่ยนที่ระดับ Identity หรือระดับตัวตน ไม่ใช่เพียงระดับผลลัพธ์ หรือวิธีการ

แทนที่จะตั้งเป้าหมายว่า “ฉันต้องการจะลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม” (เป้าหมายระดับผลลัพธ์) หรือ “ฉันจะตั้งใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนางานให้ดีขึ้น” (เป้าหมายระดับวิธีการ)

ถ้าเป็นระดับตัวตน การตั้งเป้าก็จะเปลี่ยนไป เป็น “ฉันเป็นคนสุขภาพดี” หรือ “ฉันเป็นคนที่มี Growth Mindset”

เมื่อตั้งเป้าแล้วว่าจะเป็นคนที่มี Growth Mindset ก็ไปดูว่า คนที่มี Growth Mindset เค้าเป็นคนแบบไหนกัน แล้วจึงนำเอาพฤติกรรมเหล่านั้นมาทำตาม ยิ่งทำได้บ่อย ก็ยิ่งตอกย้ำความเป็นคนมี Growth Mindset ซึ่งหากทำได้บ่อยมากพอจนเป็น habit คุณก็จะได้ Growth Mindset เป็น Identity ของคุณจริงๆ

ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร การเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง คือ skills ที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คุณก้าวหน้าในสายอาชีพนั้นๆ

แม้บทความนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นมาสำหรับ Designer เพื่อให้สนใจพัฒนา Skill อื่นๆ ที่สำคัญนอกเหนือจาก Hard Skill ด้านการออกแบบโดยตรง แต่ก็เชื่อว่าบทความนี้น่าจะมีประโยชน์กับคนแทบทุกสายงาน เพราะโลกยุคต่อไปนั้นมาถึงแล้วกันอย่างที่เห็น Hard Skill บางอย่างเริ่มถูกคอมพิวเตอร์ หรือ AI มาทำงานแทน ในขณะที่ Skill ด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล และความพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง คือ Skill สำคัญที่จะทำให้คุณก้าวไปพร้อมกับโลกใหม่ใบนี้ได้

Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    Cookies Details

Save