คำถามที่ได้ยินเสมอๆ จากเพื่อนฝูงและลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาปรึกษาเรื่องทำเว็บไซต์”อยากมีเว็บต้องทำยังไง? เริ่มต้นยังไงดี?”
ด้วยความที่ทำงานด้านเว็บดีไซน์มาตลอด 10 กว่าปี ตั้งแต่เป็น Freelance จนขยับขยายมาเปิดบริษัทรับให้ปรึกษาและออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ของตัวเอง รวมถึงบริษัท Inbound Marketing Agency สิ่งแรกที่เราพยายามทำอยู่เสมอก็คือ การค้นหาความต้องการและเป้าหมายในการมีเว็บไซต์ของลูกค้าด้วยการถามคำถามแรกสุด ก็คือ
“เป้าหมายในการทำเว็บไซต์เว็บนี้ของคุณคืออะไร?”
ซึ่งคำตอบที่ได้จากลูกค้าที่เป็น SMEs หรือแม้แต่บริษัท Corporate บางบริษัท ก็มักจะเหมือนๆ กัน
“เพราะมันต้องมี เหมือนนามบัตรน่ะ (และมันก็ต้องในนามบัตรด้วย)”
“จะได้ดูน่าเชื่อถือไง”
“ก็ใครๆเค้าก็มี คู่แข่งก็มี”
มีน้อยคนมากๆ ที่จะพูดมาอย่างมั่นใจว่าต้องการทำเว็บเพราะ “ต้องการเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์”
ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปแล้ว เจ้าของธุรกิจไม่ใช่แค่ “ต้องการมีเว็บไซต์ไว้เพื่อมีเว็บไซต์”
แต่เค้า “ไม่รู้” ต่างหาก ว่าเว็บไซต์สามารถทำอะไรได้มากกว่าการ “มีไว้เฉยๆ”
ในบทความนี้ จึงลิสคำถามให้กับคนที่กำลังอยากจะมีเว็บไซต์ ไม่ว่าจะไปจ้างบริษัททำเว็บไซต์ หรือทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง ก็จะได้มี Scope เพื่อให้สามารถเริ่มงานได้ และจะได้มีเว็บไซต์ที่ “ตอบโจทย์” อย่างแท้จริง
1. เป้าหมายใหญ่ที่สุดในการทำเว็บนี้คืออะไร?
เป้าหมายในการทำเว็บไซต์ของคุณคืออะไร? ซึ่งเป้าหมายของเจ้าของธุรกิจก็จะแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านกฏหมาย เป้าหมายสูงสุดคือ ต้องการให้คนค้นหาเว็บไซต์เจอจาก google เพื่อเข้ามาในเว็บไซต์ของคุณแล้วยกหูโทรศัพท์โทรหาบริษัทคุณ
ในทางกลับกัน หากคุณเป็นร้านขายอุปกรณ์กีฬาที่มีหน้าร้านอยู่แล้ว แต่ต้องการจะขยับขยายช่องทางการขายไปเป็น online store เป้าหมายของคุณอาจจะเป็นการมีเว็บขายสินค้าที่ใช้งานได้ง่าย ที่จะเพิ่มยอดขายให้กับคุณอีกช่องทางนึงควบคู่ไปกับหน้าร้าน
หากคุณเป็น Wedding Planner คุณอาจจะต้องการเว็บไซต์ที่สร้างdkiรับรู้ (awareness) ให้กับกลุ่มลูกค้าของคุณ ผ่านการแชร์ความรู้ เทคนิค ไอเดียด้วยการเขียนบล็อค ซึ่งในที่นี้ คุณต้องการเว็บไซต์ที่มีหน้าที่เป็นสื่อ เพื่อสร้างความเป็น expert ในใจของลูกค้าคุณ แล้วทีนี้เวลาลูกค้าต้องการบริการ ก็จะเรียกใช้คุณเพราะเชื่อมั่นใจความเป็น expert ของคุณนั่นเอง
ตัวอย่างคำตอบที่พบบ่อย
- เพื่อสร้างยอดขาย
- เพื่อเพิ่ม Lead ทำให้คนโทรมาปรึกษา
- เพื่อให้ลูกค้ามองว่าตัวเองเป็น expert ในด้านใดด้านหนึ่ง
- เพื่อสร้างฐานแฟนคลับ หรือผู้ติดตาม โดยการให้ความรู้ผ่าน content อย่างสม่ำเสมอ
- เพื่อให้ลูกค้าหาสาขาการให้บริการได้ง่ายที่สุด
คำถามข้อนี้จะทำให้คุณสามารถสรุปได้ว่า
- ลักษณะและ Feature หลักของเว็บไซต์นี้ควรเป็นอย่างไร อะไรควรเด่นเป็นตัวชูโรง อะไรเป็นแค่ตัวเสริม อะไรไม่ต้องมีก็ได้
- Call To Action คือเมื่อลูกค้าเข้ามา เราอยากให้เค้าทำอะไร? กดซื้อของจ่ายเงิน? ยกหูโทรศัพท์โทรหาคุณ? หรือกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอใบเสนอราคา?
2. กลุ่มเป้าหมายคือใคร?
กลุ่มลูกค้า/กลุ่มเป้าหมายของคนที่จะเข้ามาดูเว็บไซต์ของคุณคือใคร?
หากคุณเป็นบริษัทรับออกแบบตกแต่งภายใน แน่นอนว่าลูกค้าของคุณคือคนที่กำลังหานักออกแบบตกแต่งภายในมาช่วยออกแบบบ้านให้สวยงามได้อย่างใจ ซึ่งใครกันล่ะที่กำลังหาคนออกแบบ? พนักงานออฟฟิศอายุ 30 ที่เพิ่งซื้อคอนโด? หรือครอบครัววัยกลางคนที่เพิ่งซื้อบ้านใหม่ อยากหาคนมาตกแต่งบ้านเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีลูกน้อย?
อีกตัวอย่างหนึ่ง หากคุณเป็นบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแผนจะจะวางขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า กลุ่มคนที่เข้ามาดูเว็บไซต์ของคุณอาจจะไม่ใช่ End Customer หรือคนที่จะซื้อสินค้าของคุณ แต่อาจจะเป็นเหล่า “คู่ค้า” ที่ต้องการดูข้อมูลบริษัท มองหาความน่าเชื่อถือ เพื่อที่จะได้มั่นใจในการทำธุรกิจกับคุณต่อไป?
ตัวอย่างคำถามลงลึกที่ช่วยให้คุณเห็นภาพลูกค้าของคุณชัดเจนขึ้น
- เป็น B2B หรือ B2C?
- ถ้าเป็น B2C คนที่เข้ามาหาในเว็บไซต์ของคุณเป็นใคร เพศชายหรือหญิง, อายุเท่าไหร่, ทำงานอาชีพอะไร, ใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ/รุ่นอะไร ฯลฯ
- ถ้าเป็น B2B คู่ค่าในฝันของคุณคือใคร? อยู่เมืองไทยหรือมาจากเมืองนอก? เจ้าของดูเองหรือเป็นเหล่า Sales Manager? มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเองหรือต้องนำเอาไปเสนอหัวหน้าอีกที?
สิ่งที่คุณจะสรุปได้จากการมีภาพลูกค้าที่ชัดเจนคือ
- เว็บไซต์จะต้องมีกี่ภาษา ภาษาอะไรบ้าง?
- รูปลักษณ์ การออกแบบเว็บไซต์ การนำเสนอ จะเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ? เล่นสนุก หรือต้องเคร่งขรึม?
- ลักษณะของข้อมูลที่ต้องเตรียม เป็นเชิง technical หรือเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องเข้าถึงได้ง่าย?
3. คู่แข่งของคุณมีใครบ้าง?
คู่แข่งของคุณคือใครกัน? ลองไปศึกษาคู่แข่งที่อยู่ในตลาดเดียวกัน ถ้าเป็นคู่แข่งที่เจอกันตรงๆ ตลาดเดียวกันเป๊ะ เช่น คุณจะทำเว็บขายน้ำผลไม้คั้นสดแบบ DIY ส่ง delivery ภายใน 1 วัน คุณก็อาจจะต้องไปหาดูว่า ใครกันที่เป็นคู่แข่งบ้าง แล้วเค้านำเสนอบริการ หรือสินค้าด้วยรูปแบบไหน
- คู่แข่งทางตรงมีใครบ้าง?
- คู่แข่งทางอ้อมมีใครบ้าง?
- แล้วในต่างประเทศล่ะ?
โดยสิ่งที่ควรจะดูจากคู่แข่งของเราก็เช่น
- มีข้อมูลอะไรอยู่บนหน้าเว็บบ้าง? โดยอาจจะไล่ดูไปทีละเมนู
- ในหน้าแรกมีการเน้นเรื่องอะไรเป็นพิเศษ?
- เว็บของคู่แข่งมีการอัพเดทบ้างไหม มีการใช้ Call to Action อะไรบ้าง?
- เว็บของคู่แข่งมีคนเข้ามากน้อยแค่ไหน? สืบได้จากการใช้บริการ SEMrush.com หรือ SimilarWeb.com ซึ่งจะช่วยให้คุณได้ปริมาณคนเข้าเว็บของคู่แข่งคร่าวๆ
- มีฟังก์ชันอะไรที่พิเศษและน่าสนใจบ้าง?
- มีการทำ Social Media Marketing หรือ Content Marketing ควบคู่หรือไม่?
[irp posts=”457″ name=”พื้นฐาน SEO สำหรับเจ้าของธุรกิจ”]
4. เนื้อหาแบบไหนที่ควรจะมีอยู่บนเว็บไซต์?
ข้อมูลที่ต้องการนำเสนอบนเว็บไซต์ มีเมนูอะไรบ้าง และเน้นส่วนไหนเป็นพิเศษ ซึ่งเมนูของเว็บไซต์ส่วนมากก็จะมี About, Contact, Services, Products, Blog เป็นต้น แต่เราอยากให้คุณลองลงลึกไปในแต่ละหัวข้อ ให้เหมือนกับเวลาคุณจะทำหนังสือ ทำเป็นลิสย่อยๆ ออกมาได้ยิ่งดี เช่น
- หน้า About จำเป็นจะต้องเป็น company profile ยาว 10 หน้า A4 หรือเป็นแค่ข้อมูลบริษัทคร่าวๆ ก็พอ? ต้องมีประวัติผู้ก่อตั้ง ผู้บริหาร หรือทีมงานรวมอยู่ด้วยมั้ย?
- หน้า Product / Services บริการอะไรที่ลูกค้าของคุณต้องการทราบบ้าง? ลูกค้าต้องการข้อมูลสินค้าแต่ละตัวอย่างละเอียดพร้อมด้วยข้อมูลเชิงเทคนิคประกอบด้วย หรือจะทำเป็น video preview สินค้าไปเลย?
- หน้า Contact ลูกค้าคุณจะติดต่อคุณทางไหน? ถ้าเป็นร้านค้าออนไลน์ ควรจะมี live chat มั้ย? ถ้าเป็นเว็บที่มีหน้าร้านขายของหลายสาขา ต้องมีที่อยู่ติดต่อแต่ละร้านค้า หรือควรจะเป็น Google Map พร้อมลิ้งค์นำทางไปเลย?
- หน้า Blog ถ้าคุณจะเขียนบล็อค คุณแพลนไว้มีหมวดหมู่อะไรบ้าง?
ซึ่งวิธีที่คุณจะได้มาว่าเนื้อหาบนเว็บควรจะมีอะไรบ้าง สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการถามลูกค้าของคุณเอง อาจจะลองขอโทรไปพูดคุยและสัมภาษณ์ลูกค้าของคุณทางโทรศัพท์ซัก 3-5 คน หรือหากคุณมี Facebook Page ก็ลองดูว่าเนื้อหาแบบไหน ที่บรรดา Fan Page ของคุณชอบ กดไลค์ กดแชร์กันเยอะ และคำถามแบบไหนที่ลูกค้ามักจะ Chat มาถามใน Inbox?
5. เว็บไซต์เก่าของคุณเป็นอย่างไร?
หากคุณมีเว็บไซต์เก่าอยู่แล้ว อยากให้ลองวิเคราะห์ดูว่าเว็บเก่ามีข้อดีข้อเสียอะไรยังไงบ้าง เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อทำเว็บไซต์ใหม่
- ปกติมีคนเข้ามาเยี่ยมชมเดือนละกีคน?
- คนมาจากช่องทางไหนบ้าง?
- ได้ลูกค้าจากช่องทางออนไลน์วันละกี่ราย?
- ข้อมูลใดในเว็บไซต์ที่คนเข้ามาชมมากที่สุด และข้อมูลใดที่ไม่มีใครเข้าชมเลย?
- มีการทำ Call to Action หรือไม่? ได้ผลหรือไม่ อย่างไร?
โดยคุณสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ หากเว็บไซต์ของคุณติด Google Analytics เอาไว้ตั้งแต่ต้น หากไม่แน่ใจ ให้ลองถามคนที่รับผิดชอบในเรื่องเว็บไซต์ หรือคนทำเว็บไซต์ของคุณดู หากพบว่าไม่ได้ติด Google Analytics ควรติดอย่างด่วน เพราะมันจะทำให้คุณรู้ข้อมูลเกือบทุกอย่างของเว็บไซต์คุณ อย่างน้อยก็รู้ว่า วันๆ หนึ่ง มีคนเข้ามาเยี่ยมเยือนเว็บไซต์ของคุณบ้างหรือไม่ เข้ามาจากช่องทางไหน เข้ามาดูข้อมูลอะไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คือข้อมูลที่สำคัญมากในการที่จะใช้วิเคราะห์และปรับปรุงพัฒนาเว็บไซต์ใหม่ให้ดีขึ้น
สรุป
ไม่ว่าคุณจะสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเอง ให้ทีมทำ หรือจ้างบริษัทข้างนอก การที่คุณสามารถบอกความต้องการของคุณให้กับบริษัททำเว็บได้อย่างละเอียดถึงแก่น รับรองว่าคุณจะได้เว็บไซต์ที่สามารถตอบโจทย์ให้ทั้งกับธุรกิจและกลุ่มลูกค้าของคุณแน่นอนค่ะ :)