แม้ว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา ชีวิตการทำงานกว่า 90% จะเป็นเจ้านายตัวเองมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่เป็น Freelance, ทำโปรเจค Startups (เจ๊ง) ไป 2-3 ตัว รวมถึงเปิดบริษัทรับทำเว็บไซต์ของตัวเอง
แต่ก็เพิ่งจะมี Magnetolabs นี่ล่ะ ที่ถือว่าเป็นงานที่จัดตัวเองอยู่ในฐานะ “ผู้บริหาร” มากกว่า “ผู้ทำ” เพราะที่ผ่านมาแม้จะบอกว่าเป็น Co-founder, CXO, Managing Director ต่อหน้าชาวบ้าน แต่ลับหลังก็สั่งตัวเองทำงานทั้งนั้น
บทความนี้จึงอยากจะขอบันทึกประสบการณ์สนุกๆ ปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำตาบ้างประปราย ที่ถ้าไม่ก้าวมาเป็นเจ้าของกิจการอย่างเต็มตัวไม่มีทางได้รู้จัก
1. จดทะเบียนบริษัท
การจดทะเบียนบริษัท ถือเป็นด่านแรกที่โหดหินสำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ เป็นสิ่งที่ฟังแล้วน่ากลั๊วน่ากลัว เป็นงานที่คิดว่าไม่น่าทำเอง จ้างเค้าเอาเงินฟาด ชีวิตน่าจะง่ายกว่าเยอะ
แต่เชื่อเถอะว่า มันไม่ยากอย่างที่คิด ถ้าลองได้ทำด้วยตัวเองซักทีนึงแล้ว จะรู้สึก Level Up ขึ้นมา 2 เลเวล แถมได้ตีบวกสกิลการทำเอกสารที่คุณจะต้องใช้ไปอีกยาวหากคิดจะมาทางนี้
แต่ถ้าบางคนไม่อยากยุ่งเรื่องเอกสารเลยย ก็สามารถทำได้นะคะ โดยการหา Partner ที่เค้าสามารถในเรื่องนี้ รู้เรื่องในเรื่องนี้ จะจ้างก็ได้ แต่อย่างน้อยรู้เรื่องเบื้องต้นไว้บ้าง ก็จะทำให้เราควบคุมกิจการเราได้ดีขึ้น (สรุปก็เชียร์ให้ลองจดเองก่อนนั่นแหล่ะ!)
2. คิดราคางาน
การคิดราคางานเป็นสิ่งที่ต้องคิดเยอะกว่าตอนที่เป็นฟรีแลนซ์หลายเรื่องหลายอย่าง เพราะพอเราเป็นบริษัท มันก็จะมีค่าใช้จ่ายแฝงมากมายที่มองข้ามไม่ได้ ทั้งค่าเช่าออฟฟิศ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าทำบัญชี ค่าส่งเอกสาร อุปกรณ์เครื่องเขียน กระดาษปากกา หมึกพิมพ์ปริ้นเตอร์ ฯลฯ
แม้การคิดราคาให้จ่าย Fix Cost ได้ทุกเดือนว่ายากแล้ว การคิดราคาให้มีกำไรและขายได้นั้นยากกว่า…เยอะ! ซึ่งบอกได้เลยว่าช่วงแรกๆ ก็คิดราคางานถูกๆ ผิดๆ เพราะคิดแพงไป คนก็ไม่จ้าง พอคิดถูกไป ลูกค้าก็สงสัย ว่า “เอ๊ะ คุณโบ คิดราคาผิดมาหรือเปล่าคะ?” ดีไม่ดี พาลจะไม่จ้างเพราะว่า “มันถูกไป” อ้าว… เป็นซะอย่างนั้นน
จากประสบการณ์ การคิดราคานั้นเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ก่อนที่จะคิดราคาได้นั้น ต้องถามก่อนว่า งานหรือสินค้าของคุณ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร? มีคู่แข่งในตลาดเยอะมั้ย? ถ้าเป็นของ Mass ใครๆ ก็ทำ ใครๆ ก็ขาย สงครามราคาเกิดแน่นอน
ฉะนั้น อยากขายของ Premium ก็ต้อง Positioning ตัวเองให้ Premium และตั้งราคาให้ไม่ถูกหรือแพงจนเกินไป (ในมุมของลูกค้า) ซึ่งไอ้เจ้า ราคาที่ตรงใจ นี่ล่ะ ยากที่สุด!
เอาเป็นว่า ขั้นแรก อย่าให้ขาดทุน พอมีพอเหลือจ่ายเงินเดือนจ่ายโบนัสให้น้องๆ ในออฟฟิศ ถือเป็นเป้าหมายที่น่าจะต้องทำให้ได้!
3. จ้างพนักงานคนแรก
ความรู้สึกในการจ้างพนักงาน ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนนอกจากการที่คุณจะเป็นเจ้าของกิจการ (ไม่นับรวมการจ้างแม่บ้าน หรือพี่เลี้ยงนะ)
ตอนนั้นบริษัทเรารับพนักงาน 2 คนแรก พร้อมๆ กัน กับการย้ายมาเช่าออฟฟิศเป็นเรื่องเป็นราว เลยถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะได้เจอประสบการณ์ใหม่สองอย่างพร้อมกันในคราวเดียว
การจ้างพนักงานหนึ่งคนนั้นเริ่มตั้งแต่การมานั่งคุยกันว่า Culture ของบริษัทเรานั้นคืออะไร? แล้วเรามองว่าอยากจะได้คนแบบไหนที่จะมาร่วมทีม? ทั้งในด้านของ Hard Skill และ Soft Skill
การเขียน Job Description (JD), การรู้ว่าจะไปหาคนในแต่ละตำแหน่งได้จากที่ไหน, การสัมภาษณ์, การประเมิน, การต้อนรับ ฯลฯ คือสิ่งที่จะต้องเจอแน่นอน ซึ่งเราค่อนข้างจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการรับพนักงาน
เรามักมีคำพูดกันติดปากว่า “All to Hire, One to Fire” แปลว่า ถ้าจะรับคนเข้ามาหนึ่งคน Founder / Partner ทุกคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันว่าเออ ชอบ เอาคนนี้แหล่ะ แต่ถ้าเกิดเวลาผ่านไป เริ่มมีคนนึงรู้สึกว่าเออ คนนี้ไม่โอเคเลย ก็ต้องมีการมาพูดคุยและประชุมกัน ว่าจะเอายังไงต่อไปดีในทันทีแบบไม่ต้องรอประเมินสิ้นปี
ปล. ในเกณฑ์การให้คะแนนสัมภาษณ์ เราแอบมีช่องที่ให้คะแนนกับผู้มาสัมภาษณ์งานเป็นช่องที่เรียกว่า Emo (ใช่ ก็คือตัดสินด้วยอารมณ์นี่ล่ะ!) คือ ชอบคนนี้มั้ย ถ้าให้เลือกเป็นเพื่อน จะเลือกคบคนนี้มั้ย? ซึ่งส่วนตัวแล้ว คนที่เราให้คะแนนส่วนนี้เยอะ เวลามาทำงานด้วยกันเราจะพบว่ามันมีเคมีอะไรบางอย่างที่ตรงกัน แล้วทำให้เราทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น
4. เชิญพนักงานออก
การเชิญพนักงานออก ถือเป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินกันมาว่าโหดหิน และยากมากต่อจิตใจของคนคนหนึ่ง ทั้งคนบอกและคนโดนบอก
นึกสภาพก็คงไม่ต่างจากการที่เรารวบรวมความกล้าไปบอกแฟน หรือคนที่คุยๆ กัน คบๆ กันว่า เธอไม่ใช่ เราไม่น่าไปกันรอด เธอดีเกินไป เราเจอคนอื่นที่ดีกว่า ฯลฯ
แต่การบอกเลิกพนักงานมันไม่มีอารมณ์มาข้องเกี่ยวมากนักเหมือนกับคนเป็นแฟนกัน เพราะเรื่องการตัดสินว่าใครจะอยู่ใครจะไป เราใช้หลักการและเหตุผลมา Support เป็นหลัก แต่สิ่งที่ยากก็คือ จะทำยังไงให้เรื่องทั้งหมดนี้มันไม่ดูเป็น Personal หรือเป็นการพูดด้วยอารมณ์
ซึ่งก่อนที่เราจะเชิญพนักงานออกครั้งแรก เราประชุมกันเครียดมาก มีการคิด script ว่าคำไหนพูดได้ คำไหนไม่ควรพูด อะไรที่อาจจะทำให้เค้ารู้สึกแย่ หรือ fail เค้าจะมีคำถามอะไรบ้างที่เราต้องเตรียมตอบให้ได้ ฯลฯ
แต่ทั้งหมดก็ผ่านไปด้วยดี เค้าเข้าใจ สุดท้ายเราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และก็หวังว่าเค้าจะประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานได้ซักวันหนึ่ง
Key สำคัญคือ ต้องพูดด้วยความเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช้อารมณ์ เพื่อสื่อความรู้สึกหวังดีไปให้ถึงเค้า ให้เค้ารู้สึกได้จริงๆ ความจริงใจเป็นเรื่องสำคัญ และการให้ Feedback อย่างตรงไปตรงมาว่าเพราะอะไรเค้าจึงต้องออก จะช่วยทำให้เค้าพัฒนาและเอาไปปรับปรุงในการต่อไปในต่อไปในอนาคต
5. โดนยกเลิกงาน
ใครเคยโดนแฟน หรือคนที่เราไปตามตื๊อบอกเลิก, ความรู้สึกในการโดนลูกค้าบอกเลิกก็ไม่ต่างกันมากนัก
สำหรับพวกเรา จังหวะแรกที่เราโดนลูกค้าบอกเลิก ทำเอาช็อคกันไปทั้งออฟฟิศ
แต่พอตั้งสติได้ พวกเราจึงมานั่งคิดกันว่า เอ เป็นเพราะอะไร เราไม่ดีตรงไหน เราทำอะไรพลาดไป ถึงทำให้ลูกค้าต้องมาฉีกสัญญา แถมไม่พูดคุยด้วย โทรไปเท่าไหร่ก็ไม่รับ เรียกว่าหายไปจากชีวิตกันเลยทีเดียว
ซึ่งเหตุการณ์ในข้อนี้ เราสรุปออกมาเป็นบทเรียนได้ 2 ข้อ ดังนี้
- เป้าหมายของเราไม่ตรงกัน ในขณะที่การทำInbound Marketing เป็นการทำการตลาดแบบ Long Term แต่ธุรกิจของลูกค้านั้นยังเป็น Startup ทำให้อาจจะไม่เหมาะกับการทำ Inbound Marketing ที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการลงทุน ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ว่าทำไมลูกค้าถึงต้องยกเลิกงานเรา
- การพูดคุยแบบเปิดอกกันแต่แรก และซื่อสัตย์ซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องอธิบายลูกค้าให้เค้าเข้าใจถึงขั้นตอนการทำงาน ผลลัพธ์ เป้าหมาย สิ่งที่ทำได้ สิ่งที่ทำไม่ได้ ให้เข้าใจตรงกันตั้งแต่ Day 1 จะช่วยทำให้ลดปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาได้
6. ปฏิเสธลูกค้า
ต่อจากข้อด้านบน มันทำให้เรามีวิธีการในการคัดเลือกลูกค้าอย่างรัดกุมมากขึ้น เพื่อให้ไม่ต้องมีการเสียใจกันภายหลัง
กฎเหล็กของเราก็คือ หากรู้ว่า “ไม่น่าใช่” แต่แรกก็อย่าฝืน สุดท้ายมันไม่ค่อยเวิร์คหรอก
ซึ่งการที่เราบอกว่า “ไม่น่าใช่” ไม่ได้ใช้อารมณ์เป็นหลัก เพราะเรามี Criteria ในการเลือกลูกค้า ที่เหมาะกับเรา ลูกค้าที่เราเชื่อว่า เราจะช่วยทำให้ธุรกิจของเค้าดีขึ้นได้จริงๆ
7. เขียมสุดๆ กว่าจะซื้ออะไรซักอย่าง
เจ้าของธุรกิจมือใหม่ที่เงินในบัญชียังไม่หนาเท่าไหร่ ก็ต้องเขียมเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่วาดฝันไว้ว่าจะต้องมีให้ได้ในออฟฟิศ แต่เราก็ใช้วิธีให้คะแนนกับ Wishlist เหล่านั้น อะไรที่ไม่สำคัญ และเร่งด่วน ก็ดองเอาไว้ก่อน เมื่อเก็บเงินลูกค้าได้ หรือปิดดีลลูกค้าใหม่ได้ค่อยซื้อ (ถือเป็นการให้รางวัลตัวเองอย่างอ้อมๆ)
ย้อนกลับไป ตอนออฟฟิศแรก เรามีเตรียม Zone ประชุมเอาไว้สำหรับคุยงาน ซึ่งต้องรอหลายเดือนกว่าที่เราจะกดซื้อทีวีจาก Lazada เพราะเจอลดราคาพอดิบพอดี
เราเลือกที่จะไม่ติดทีวี Fix เอาไว้กับผนัง แต่ลงทุนซื้อที่ตั้งจอทีวีแบบล้อเลื่อน เพราะจะได้เลื่อนทีวีไปมาเพื่อใช้งานได้หลากหลาย กลางวันประชุมคุยงาน กลางคืนเล่นเกมส์ บางวันก็เลื่อนออกมานอกห้องประชุมเอามาทำ MagnetoTalk ตรงโซนนั่งเล่น
ถ้าไม่คุ้มเลเวลนี้ บอสแบงค์จะไม่ค่อยอนุมัติ 555
8. เอาเงินฟาดซื้อเวลา
แม้ว่าเราจะเขียมประมาณนึง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตการทำงานมันดีขึ้น ง่ายขึ้น Productive ขึ้น (ประหยัดเวลาขึ้นว่างั้น) เราก็พร้อมจะ Invest เสมอ
สิ่งที่เราจะใช้เงินฟาดได้แก่
- งานแรงงานที่คำนวนแล้วว่าถ้าทำจะต้องใช้เวลาที่คิดจากเงินเดือนพนักงานแล้วไม่คุ้ม ไปจ้างคนอื่น หรือหาวิธีอื่นทำจะทำให้คุ้มค่ากว่า
- Software ที่ช่วยทำให้ชีวิตการทำงานง่ายขึ้น ถ้ามี Potential ที่จะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น เราก็พร้อมจะลอง ถ้าลองแล้วไม่เวิร์ค ก็ไม่เป็นไร ค่อยเปลี่ยนไปหา Software ตัวอื่น
- อุปกรณ์ในออฟฟิศที่ช่วยให้ Productivity ของทีมงานดีขึ้น ถ้ามี Request แล้วมันเป็นประโยชน์จริง ทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นได้จริง เราก็พร้อมเปย์!
9. เงินเดือน (ตัวเอง) ไม่ออก
ช่วงที่เปิดบริษัทประมาณ 2-3 เดือนแรก เราไม่ได้ให้เงินเดือนตัวเองกัน พอเราเริ่มได้งานลูกค้ามา มีเงินไหลเข้าบัญชี ในที่สุดเราก็สามารถให้เงินเดือนตัวเองได้
ให้เงินเดือนตัวเองได้ซัก 2 เดือน เราก็ต้องงดให้เงินเดือนตัวเองกันอีกครั้ง เพื่อเอาเงินไปเช่าออฟฟิศ และจ้างพนักงาน ช่วงนั้นถือว่าเครียดมาก เพราะมีความกดดันจาก Fix Cost ที่เป็นเครื่องมือผลักดันให้เราต้องหางานหาเงินเพื่อมาจ่ายค่าเช่า และเงินเดือนของพนักงานให้พอในแต่ละเดือน
เมื่อเงินไม่ Flow การงดให้เงินเดือนตัวเองก็เป็นทางเลือกที่เราทำเพื่อต่ออายุให้บริษัทไปอีกเดือน
ซึ่งตอนนี้เราไม่ต้องใช้วิธีนี้ในการทำให้บริษัทอยู่รอดแล้ว และสัญญากับตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนต้องวิน!
10. อยู่กับพาร์ทเนอร์มากกว่าแฟน
เค้าว่ากันว่า การทำงานคือ 1 ใน 3 ของชีวิต
แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการแล้วล่ะก็ มันจะไม่ใช่แค่ 1 ใน 3 แต่แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว ฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้าแฟน หรือเพื่อน หรือตัวคุณเอง ที่ทำอาชีพเจ้าของกิจการ วันๆ นึง จะใช้เวลาอยู่กับ พาร์ทเนอร์หรือกับคนที่บริษัท มากกว่าอยู่กับแฟน
ทุกวันนี้ เวลาทำงานอยู่แล้วรับโทรศัพท์แฟนไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยโทรกลับตอนเลิกงานจ้ะ แต่ถ้าพาร์ทเนอร์โทรมามาต้องรับให้ทัน ถ้าไม่ทันก็ต้องโทรกลับทันที เพราะมันมักจะมาพร้อมกับข่าวดี หรือข่าวร้าย หรือการทำงานที่ Urgent เสมอๆ 555
ยิ่งช่วงแรกๆ ที่บริษัทกำลังตั้งไข่ มีกันอยู่ 2-3 คน เราแทบจะอยู่ด้วยกันแทบวันละ 12 ชั่วโมง หนำซ้ำหลังแยกบ้านใครบ้านมันตอนสี่ห้าทุ่มแล้วยังคุยต่อใน Slack อีก!
ฉะนั้น การเลือกพาร์ทเนอร์จึงสำคัญมากๆ เพราะคุณต้องใช้ชีวิต แชร์ทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องสมหวัง เรื่องผิดหวัง กับคนคนนี้ ไม่ต่างจากแฟนเลยทีเดียว (เผลอๆ มากกว่าด้วยซ้ำ)
สรุป
และนี่ก็เป็น 10 บทเรียนสำคัญที่อยากจะเขียนบันทึกเอาไว้อ่านเอง หากใครมีเสริมเรื่องอื่นก็อย่าลืมแชร์กันในคอมเมนต์ได้นะคะ :)